“ปลูกไผ่ขายหน่อ” ลงทุนครั้งเดียว เก็บขายได้ทั้งปี ทำเงินหมื่นต่อวัน

หากพูดถึงพืชที่ปลูกครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน “ไผ่” ต้องติดโผอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ให้ร่มเงาสวยงามหรือใช้ลำทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ “หน่อไม้” ยังเป็นของกินยอดนิยมที่ขายดีตลอดปี ยิ่งตลาดอาหารสุขภาพกำลังมาแรง หน่อไม้สดๆ ปลอดสารก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น

หลายคนอาจคิดว่าการปลูกไผ่ต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่ความจริงแล้วสามารถปลูกได้ทั้งแบบสวนใหญ่และสวนข้างบ้าน ขอแค่มีการจัดการที่ดี เลือกพันธุ์ให้เหมาะสม แค่นี้ก็สามารถทำเงินหลักหมื่นต่อวันได้ไม่ยาก วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาไปดูแนวทางการปลูกไผ่แบบมืออาชีพ ตั้งแต่เลือกพันธุ์ การดูแล ไปจนถึงเทคนิคเพิ่มผลผลิต ให้ปลูกครั้งเดียวแต่ขายหน่อได้ไม่มีหมด

คุณบารมี วรานนท์วนิช เจ้าของ "สวนไผ่บารมี"
คุณบารมี วรานนท์วนิช เจ้าของ “สวนไผ่บารมี”

คุณบารมี วรานนท์วนิช เจ้าของ “สวนไผ่บารมี” ผู้เปลี่ยนสวนส้มเดิมให้กลายเป็นอาณาจักรไผ่เลี้ยงอีสานเขียว เริ่มต้นจากเพียง 30 ไร่ ก่อนขยายพื้นที่เพาะปลูกจนแตะ 212 ไร่ ปัจจุบัน สวนไผ่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ต่อเนื่องทุกวัน เฉลี่ยวันละ 20,000 บาท ด้วยผลผลิตที่สามารถเก็บขายได้ตลอดทั้งปี โดยสร้างตลาดจากหน้าบ้านของเขาเอง

โดยปกติ หน่อไม้ มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน แต่เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง กลับหายากในตลาดทั่วไป ทำให้เกิดคำถามว่า “เราจะทำให้หน่อไม้ออกนอกฤดูได้ไหม?”

คุณบารมีได้วิเคราะห์และอธิบายให้เห็นภาพว่า หน่อไม้ในฤดูฝนเจริญเติบโตได้ดี เพราะได้รับน้ำและสารอาหารเพียงพอ แล้วถ้าในหน้าแล้ง เราสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนฤดูฝน ทั้งเรื่อง น้ำและปุ๋ย ก็น่าจะทำให้หน่อไม้สามารถให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีได้เช่นเดียวกัน

ช่วงแรกของการปลูกไผ่ หากยังไม่มีประสบการณ์ อาจเป็นเรื่องยากถึงขั้นท้อจนอยากเลิก หลายคนลองทำแล้วต้องถอยกลับเพราะเจออุปสรรคมากมาย “แต่เมื่อเรา เข้าใจธรรมชาติของไผ่ และเรียนรู้วิธีดูแลให้ถูกต้อง รู้ว่าต้องทำอย่างไร และทำแบบไหนถึงจะไม่ลำบาก ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น เมื่อเข้าใจเส้นทางการเติบโตของไผ่แล้ว การปลูกไผ่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” คุณบารมี กล่าว

Advertisement

ต้นพันธุ์ไผ่แหล่งแรกที่นำมาปลูกมาจาก จังหวัดเพชรบูรณ์ และยังมีแหล่งอื่นๆ เช่น อำเภอประจันตคาม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยสายพันธุ์หลักที่ใช้คือ อีสานเขียว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หน่อไม้เลี้ยง” ซึ่งเป็นพันธุ์เบาที่ให้ผลผลิตดี

Advertisement

หน่อไม้เกิดจากเหง้าของต้นไผ่ โดยในหนึ่งต้น รากของไผ่ที่เราเห็นด้านบนจะมี “ตาหน่อ” อยู่ประมาณ 6 ตา เมื่อต้นไผ่ได้รับน้ำและอาหารเพียงพอ ตาเหล่านี้จะแตกออกเป็น หน่อ หรือ หลังจากที่ตัดหน่อไปแล้ว เหง้าไผ่ยังสามารถให้ผลผลิตได้อีก ตาข้างล่างของเหง้าจะเริ่มแตกรากใหม่ และพัฒนาเป็นหน่ออีกรอบ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไผ่จึงให้ผลผลิตต่อเนื่องได้ตลอดปี

ปลูกไผ่ขายหน่อ สร้างรายได้วันละหมื่น

เมื่อเก็บหน่อไม้เสร็จแล้ว เราจะนำขึ้นเรือและบรรจุใส่ถุงเพื่อส่งเข้าโรงงาน ซึ่งลานที่บ้านของเราเองก็เป็นโรงงานต้มหน่อไม้ พร้อมด้วยเตาต้มที่เตรียมไว้รออยู่ เมื่อหน่อไม้มาถึง ก็จะถูกนำลงเตาทันที โดยใช้เวลา ต้มประมาณ 45 นาที ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็น มาตรฐานความร้อนที่ต้องรักษา เพื่อให้หน่อไม้ได้คุณภาพ สด สะอาด และพร้อมส่งต่อไปยังตลาด

เคล็ดลับสำคัญของการต้มหน่อไม้ คือ ระยะเวลาและอุณหภูมิ ถ้าต้มทิ้งไว้แปปเดียว หน่อไม้จะขม แต่ถ้าต้มนานเกินไป รสชาติจะหวาน เราจึงใช้วิธี ต้มที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที เพื่อให้ได้รสชาติ ขมอมหวานกำลังดี แต่ถ้าต้มนานถึง 1 ชั่วโมง หน่อไม้จะไม่ขมเลย เตาแต่ละเตาสามารถต้มหน่อไม้ได้ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อรอบ และหลังจากต้มเสร็จ ต้องรีบ “น็อกน้ำ” หรือ เปลี่ยนจากน้ำร้อนเป็นน้ำเย็นทันที

หากไม่ผ่านกระบวนการน็อกน้ำ ความร้อนที่สะสมในหน่อไม้จะค่อยๆ ระเหยออกไป ทำให้หน่อไม้ เหี่ยวและปอกเปลือกได้ยาก เราจึงใช้วิธีโยนหน่อไม้จากเตาลงน้ำเย็น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร้อน เมื่อน้ำเย็นเข้าแทนที่ หน่อไม้จะยังคงความสด กรอบ และปอกง่าย พร้อมสำหรับการนำไปแปรรูปหรือจำหน่าย

ในการ ตัดแต่งหน่อไม้ เราจะใช้อัตราส่วน หน่อไม้สด 2 กิโลกรัม เมื่อผ่านการต้มแล้วจะเหลือ หน่อไม้ต้ม 1 กิโลกรัม

ขั้นตอนการ แปรรูปหน่อไม้ แบ่งออกเป็น 3 แบบหลักๆ ได้แก่

  1. หน่อใหญ่ – เป็นหน่อที่มีขนาดใหญ่สุด ใช้สำหรับทำเมนูที่ต้องการเนื้อหน่อไม้เยอะๆ
  2. หน่อเล็ก (แขนง) – เป็นหน่อที่แตกออกจากหน่อใหญ่ เหมาะสำหรับทำอาหารที่ใช้ชิ้นเล็กๆ
  3. ข้อหน่อไม้ – คือส่วนปลายที่ยาว ซึ่งจะถูกตัดแต่งให้ได้ขนาดตามมาตรฐานที่กำหนด

การคัดแยกและตัดแต่งหน่อไม้แต่ละแบบ ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมกับความต้องการของตลาด

การจัดการหน่อไม้เกรด C ให้คุ้มค่า ไม่ต้องขายต่อแม่ค้า

ปกติแล้ว หน่อไม้จะถูกคัดเกรดเป็น A และ B เพื่อขายในราคาสูง ส่วน เกรด C ซึ่งเป็นหน่อไม้ที่เหลือจากการคัดเกรด เราเลือกที่จะไม่ขายส่งให้แม่ค้าเกรด C แต่ นำมาอัดปี๊บเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าและควบคุมราคาขายได้เอง

ราคาหน่อไม้สดตามฤดูกาล

  • หน้าร้อน – ราคาสูงสุด 20-25 บาท/กก.
  • หน้าฝน – ผลผลิตเยอะ ราคาลดลงเหลือ 8-12 บาท/กก.
  • หน้าหนาว – ผลผลิตน้อย ราคาพุ่งขึ้นถึง 30 บาท/กก.

เราคัดแยกหน่อไม้ แพ็กใส่ถุง พร้อมจำหน่ายหน้าบ้าน ลูกค้าสามารถมาซื้อได้โดยตรง สร้างรายได้ที่มั่นคง สามารถจ่ายค่าจ้างลูกน้องและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย เฉลี่ย ช่วงหน้าหนาว รายได้ต่อวันอยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไป

เทคนิคการไว้ลำไผ่และกระตุ้นหน่อไม้ให้ออกในหน้าแล้ง

1. การไว้ลำไผ่เพื่อเตรียมต้นทุนให้แข็งแรง

เมื่อล่วงเข้าสู่ ปลายฤดูกาลของต้นไผ่ (ประมาณปลายกันยายน) เราจะใช้เทคนิค ไว้ลำ เพื่อให้ไผ่มีลำใหม่ที่แข็งแรงและให้ผลผลิตดีต่อเนื่อง

วิธีการไว้ลำ

  • ก่อนหมดฤดูกาล ประมาณ 1 เดือน
  • กอไผ่ 1 กอ มี 8 ลำ → คัดไว้ 4 ลำที่แข็งแรง และ ตัดลำแก่ 4 ลำออก
  • ต้นใหม่จะเติบโตขึ้นมาแทนที่ลำเก่า ทำให้ไผ่มีความสมบูรณ์และพร้อมให้ผลผลิตทุกปี

2. เทคนิคกระตุ้นหน่อไม้ให้ออกในหน้าแล้ง

ปกติแล้ว หน่อไม้จะออกช่วงหน้าฝน เพราะมีน้ำและปุ๋ยเพียงพอ แต่ในหน้าแล้ง หลายพื้นที่ไม่สามารถกระตุ้นหน่อไม้ได้ เนื่องจากขาดน้ำและสารอาหาร เราจึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับ ฤดูฝน โดยวิเคราะห์ว่า น้ำฝนมีอะไรบ้าง? มี N-P-K เท่าไหร่? แล้วปรับการดูแลให้เหมาะสม

การให้ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยเดือนละ 2-3 ครั้ง แต่ให้น้อยแต่บ่อย ทุกๆ 5 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งหนึ่ง เพื่อให้ต้นไผ่ได้รับสารอาหารอย่างต่อเนื่อง

การให้น้ำ

  • ในช่วงหน้าแล้ง ถ้าต้องการให้หน่อไม้ออก → รดน้ำวันเว้น 2 วัน
  • ในช่วงหน้าฝน ที่มีน้ำฝนตามธรรมชาติอยู่แล้ว → ไม่ต้องรดเพิ่ม

เทคนิคนี้ช่วยให้ไผ่ออกหน่อได้ตลอดปี แม้ในหน้าแล้งก็สามารถสร้างผลผลิต ทำให้มีหน่อไม้เก็บขายได้ทั้งปี

กลยุทธ์การตลาด ตัดพ่อค้าคนกลาง สร้างตลาดหน้าบ้านเอง

เราเลือกปั้นตลาดของตัวเอง ขึ้นมาหน้าบ้าน แทนที่จะส่งหน่อไม้ให้พ่อค้าคนกลาง วิธีนี้ช่วยให้เรา เชื่อมต่อกับแม่ค้าที่ขายปลายทางโดยตรง ทำให้ได้ราคาดีกว่า และควบคุมคุณภาพสินค้าเอง

  • เชิญแม่ค้าปลายทาง (กลุ่มตลาดผู้บริโภค) มาซื้อหน่อไม้ที่โรงงานโดยตรง
  • ลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลาง → ทำให้เรากลายเป็น ต้นทางสู่ปลายทาง เอง
  • ได้กำไรมากขึ้น และราคาสมเหตุสมผลกว่า
การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 3 ระดับ

ลูกค้าเกรด A :  แม่ค้าที่มาซื้อหน่อไม้ถึงหน้าบ้านเราโดยตรง
✅ ต้นทุนต่ำ → ไม่ต้องเสียค่าขนส่งเอง
✅ ได้ราคาดีที่สุด เพราะไม่มีคนกลาง

ลูกค้าเกรด B : พ่อค้าคนกลางที่ซื้อต่อไปขายในตลาด
✅ รับหน่อไม้ไปวางขาย แล้วรอลูกค้าปลายทางมาซื้อ

ลูกค้าเกรด C : แม่ค้าที่ซื้อล็อตใหญ่เพื่อนำไปแปรรูป เช่น

  • อัดปี๊บ
  • ทำซุบหน่อไม้
  • ถนอมอาหารเก็บไว้ขายตอนราคาสูง

การทำตลาดแบบนี้ช่วยให้เรามีช่องทางขายที่มั่นคง ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และสามารถ บริหารจัดการผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น

หากท่านไหนสนใจการปลูกไผ่ รวมไปถึงสนใจหน่อไม้ของที่สวน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook : สวนไผ่บารมี หรือเบอร์โทรติดต่อ : 086-031-3173 คุณบารมี