ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วหรือยัง? ขอใช้ ‘ไฟเกษตร’ ได้ ค่าไฟถูกกว่าไฟบ้าน

ไฟเกษตรเป็นอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรไทยได้ใช้ไฟฟ้าในกิจกรรมทางการเกษตร เช่น การสูบน้ำ การใช้เครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์ทางการเกษตรอื่นๆ ในราคาที่ถูกกว่าการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนทั่วไป ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตรกรรม

ไฟเกษตร
ไฟเกษตร

ไฟเกษตร คือ ไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดให้สำหรับเกษตรกรที่จดทะเบียนถูกต้อง เพื่อใช้ในการเกษตร เช่น ปั๊มน้ำ ระบบให้น้ำ ระบบแสงสว่างในฟาร์ม หรือเครื่องมือทางการเกษตรไฟฟ้าต่างๆ โดยมีอัตราค่าไฟที่ถูกกว่าไฟฟ้าบ้านปกติ

ใครมีสิทธิ์ขอใช้ไฟเกษตร?

เกษตรกรที่สามารถขอใช้ไฟเกษตรได้นั้นต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • เป็นเกษตรกรที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • มีพื้นที่ทำการเกษตรจริง เช่น นา ไร่ สวน หรือฟาร์ม
  • ใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร เช่น ระบบสูบน้ำ ปั๊มน้ำ หรือเครื่องจักรกลทางการเกษตร

วิธีการขอไฟฟ้าลงพื้นที่เกษตร มี 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. ขอบ้านเลขที่ ในการขอไฟเกษตรต้องดูแนวโน้มในพื้นที่ด้วยว่าจะมีไฟฟ้าเข้ามาด้วยหรือไม่ และต้องมีบ้านอยู่ในโซนเดียวกันตั้งแต่ 3 หลังขึ้นไป แต่ถ้าในพื้นที่มีบ้านหลังเดียวก็สามารถขอไฟฟ้าพิเศษได้ แต่ค่าไฟจะสูงกว่าปกติครับ

2. ยื่นเรื่องกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาจเป็น อบต. หรือเทศบาล

3. ยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าในอำเภอของตนเอง อย่าลืมถามความเป็นไปได้ในการที่จะได้ไฟฟ้าเข้าในพื้นที่ แนะนำให้รวมกลุ่มกันมากๆ 3 หลัง 5 หลังหรือมากกว่า จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น

ในการขอใช้ “ไฟเกษตร” ที่ต้องผ่านเกณฑ์

1. ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการขยายเขต ฯ ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อราย (PEA รับผิดชอบ) ในกรณีที่เกิน 50,000 บาท ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถสมทบเงินในส่วนที่เกินได้
2. เกษตรกรผู้ยื่นคำร้องจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร (สมุดทะเบียนเกษตรกร)
3. ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามใดๆ ของราชการ
4. ต้องมีทางสาธารณะที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้อย่างสะดวก และสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าโดยวิธีปักเสาพาดสายได้
5. ต้องระบุแหล่งน้ำที่จะใช้เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น คลองสาธารณะ คลองชลประทาน แหล่งน้ำใต้ดินในลักษณะต่างๆ
6. ต้องมีเอกสาร/หลักฐานสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องไม่ใช่ที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนรายใหญ่
7. เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขอติดตั้ง มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 15 (45) แอมป์ ต่อราย
8. ต้องสามารถออกใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามิเตอร์เครื่องที่ 2 (ใหม่) โดยจะแจ้งเก็บเงินไปที่มิเตอร์เครื่องที่ 1 (เก่า) ทั้งสองมิเตอร์ต้องอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าเดียวกัน

Advertisement

ขั้นตอนการขอใช้ไฟเกษตร

  1. ติดต่อการไฟฟ้าในพื้นที่ – สามารถไปที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง (MEA) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตามพื้นที่ของท่าน
  2. เตรียมเอกสาร
    • สำเนาบัตรประชาชน
    • สำเนาทะเบียนบ้าน
    • เอกสารรับรองการเป็นเกษตรกร เช่น ทะเบียนเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตร
    • สำเนาโฉนดที่ดิน แผนที่แสดงที่ตั้งของแปลงเกษตร
    • หลักฐานการครอบครองที่ดินหรือสัญญาเช่า (ถ้ามี)
  3. ยื่นคำร้อง – แจ้งความประสงค์ขอใช้ไฟเกษตร พร้อมส่งเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
  4. รอการตรวจสอบ – เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าการใช้ไฟฟ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการเกษตร
  5. ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า – เมื่อได้รับอนุมัติ การไฟฟ้าจะติดตั้งมิเตอร์ไฟเกษตรให้ พร้อมเริ่มใช้งานได้เลย

ค่าธรรมเนียมในการยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้า

  • ติดตั้ง 5(15) แอมป์ ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  • ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 1 เฟส ค่าธรรมเนียม 6,450 บาท
  • ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 3 เฟส ค่าธรรมเนียม 21,350 บาท

อัตราค่าไฟเกษตรจะน้อยกว่าอัตราค่าไฟบ้าน (ประเภทที่1) พอสมควร โดยมีอัตราดังนี้

Advertisement

อัตราปกติ (บาท/หน่วย)

– 100 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 100) 2.0889

– เกิน 100 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 101 เป็นต้นไป) 3.2405

ค่าบริการ 115.16

ส่วนค่าไฟบ้านคิดอัตราดังนี้

อัตราปกติ (บาท / หน่วย)

ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย / เดือน

– 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 15) 2.3488

– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16 – 25) 2.9882

– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) 3.2405

– 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36 – 100) 3.6237

– 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 – 150) 3.7171

– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218

– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ค่าบริการ 8.19

ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย / เดือน

– 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484

– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218

– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ค่าบริการ 38.22

ไฟเกษตรเป็นสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรควรใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรในการทำเกษตร การขอใช้ไฟเกษตรนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เตรียมเอกสารให้ครบ และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด หากท่านเป็นเกษตรกรที่ยังใช้ไฟบ้านกับกิจกรรมทางการเกษตร ควรรีบดำเนินการเปลี่ยนเป็นไฟเกษตรเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์