จับตา “พาราควอต” หมื่น ล. หวั่นต้น ต.ค.ต่อทะเบียนอีก 6 ปี?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีเหตุการณ์ใดร้อนระอุแบบแลกกันหมัดต่อหมัด ระหว่าง 1. 40 องค์กรที่ทำงานด้านเกษตร คุ้มครองสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในนามของ “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” 2. กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณา ลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตราย พาราควอตไดคลอไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม และ 3. ฝ่ายราชการ นำโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ถือดาบอาญาสิทธิ์ ภายใต้ผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาทของผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย เป็นเดิมพัน
จับตารัฐต่อทะเบียน 3 สาร

โดย “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” ได้รวมตัวกันเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ตอกย้ำให้ “กรมวิชาการเกษตร” ในฐานะแม่งานหลัก เร่ง “ยกเลิกการใช้”
พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้
รวมทั้งให้ยุติการขึ้นทะเบียนในปี 2561 และยุติการใช้ภายในปี 2562 ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ซึ่งมีกรรมการจาก 4 กระทรวงเข้าร่วม ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข
พร้อมประกาศรวมพลเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด
ในวันที่ 19 กันยายนนี้ เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาว่า ต้นเดือนตุลาคมนี้กรมวิชาการเกษตรจะมีการพิจารณาต่อทะเบียน 3 สารเหล่านี้ออกไปอีก 6 ปี
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สรุปสถานการณ์ หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นมาเป็นลำดับนั้น
ข้อมูลส่วนใหญ่จากผู้เข้าร่วมเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและการอ้างผลงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ทางเครือข่ายจึงขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข (ตามที่กล่าวข้างต้น) และยืนยันที่จะให้ทางกรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามมติ โดยไม่มีการต่อทะเบียนพาราควอตของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 9 ตุลาคม 2560

“ไทย-แพน” แฉรัฐยื้อเวลาแบน
ภายหลังกรมวิชาการเกษตรแถลงข่าวในวันที่ 12 กันยายน “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” ได้ออกมาตอบโต้กรมวิชาการเกษตรทันควันว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อเวลาการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป

การที่ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานก่อน ถือเป็นการยื้อเวลา และหมกเม็ดให้มีการใช้สารพิษดังกล่าวออกไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลักขึ้นมาพิจารณาผลกระทบโดยรอบด้าน และมีมติให้ยกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับแล้ว
กรมวิชาการเกษตร สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 25 คือ ใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว หากมีเหตุสําคัญเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจออกใบอนุญาต มีอํานาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตได้ตามความจําเป็น แต่กรมวิชาการเกษตรมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้แต่ประการใด

หวั่นเข้าทางบริษัทสารเคมีดัง
การผลักเรื่องนี้ออกไป ทั้งที่สามารถดำเนินการระงับการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดได้ ไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงเข้าทางบริษัทสารเคมี เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนของสมาคมของบริษัทขายสารเหล่านี้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย โอกาสที่จะแบนสารเคมีดังกล่าวจะเป็นไปได้ยาก หรือยื้อเวลาต่อไปอีกหลายปี ดังที่ปัจจุบัน คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่ได้ประกาศแบนคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ทั้งๆ ที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้มีการแบนทั้งสองสารดังกล่าว มานานกว่า 4 ปีแล้ว
นอกจากนี้ การจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต โดยระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทางกรมวิชาการฯ ต้องมีมาตรการและกลไกมารองรับการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานตามแนวทางที่วางไว้

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ