สหกรณ์การเกษตรคอนสาร ส่งเสริมสมาชิกทำการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่

ตามที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดโครงการสร้างผู้นำสหกรณ์ต้นแบบสู่ Young Smart Cooperative Directors เพื่อให้ความรู้กับบุคลากรสหกรณ์ในเขตภาคอีสานตอนใต้ที่เป็นผู้ที่ทำการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่และมีความพร้อมสามารถเป็นผู้ถ่ายทอดขยายผลความสำเร็จสู่สมาชิกสหกรณ์รายอื่นได้นั้น หลายสหกรณ์ได้นำองค์ความรู้ไปส่งเสริมให้สมาชิกนำไปปฏิบัติ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายประจำวัน และมีรายได้จากการทำเกษตรหมุนเวียนในทุกวัน

นายกัณวีย์ บุญญพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังจากการอบรม คณะของศูนย์ได้ลงพื้นที่ออกติดตามการขยายผลการอบรม ในเขตจังหวัดชัยภูม ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2560 ซึ่งมีตัวแทนที่เข้าร่วมโครงการ จากสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 5 ราย ได้แก่ นางอัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์ นางดารัตน์ หาญปี ผู้ช่วยผู้จัดการ นายเทียน เดชวิจารย์ สมาชิก นายปกรณ์ เหล่าภักดี สมาชิก และนางสาววรรณิษา เหลาแพง สมาชิก ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินการ พบว่าสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยสนับสนุนให้มีการขยายผลการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยให้สมาชิกที่ผ่านการอบรมเป็นแปลงสาธิตเข้ารับการอบรมนำความรู้จากการอบรมบวกกับองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ไปถ่ายทอดผ่านกิจกรรมสู่สมาชิกรายอื่นๆ เพื่อลดต้นการผลิต ได้แก่ การทำปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยหมักใช้เอง ด้านการลดการใช้แรงงานในการทำเกษตรและเพิ่มผลผลิต ได้แก่ การใช้รถดำนาแทนแรงงานคน การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวในกระบะเพาะกล้า ด้านการเพิ่มรายได้ ได้แก่ การปลูกพืชหมุนเวียนในนาข้าว การปลูกพืชหลากหลายชนิด การแบ่งพื้นที่เพาะปลูกและขุดสระเลี้ยงปลา การขยายกิ่งพันธุ์ไม้ผล และการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า และจากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายประจำวันและมีรายได้จากการทำเกษตรหมุนเวียนในทุกวัน ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้จำนวนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จากจำนวน 25 ราย ได้ขยายผลไปเป็นจำนวน 50 ราย และจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ยังมีบทบาทในการการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาปรับพื้นที่มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งแต่เดิม เกษตรกรนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ การทำนา สวนยาง และปลูกอ้อย เปลี่ยนมาแบ่งพื้นที่ขุดสระเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืชให้หลากหลายมากขึ้น โดยสหกรณ์ได้จัดให้มีแปลงสาธิตไว้ที่สหกรณ์ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่และการทำเกษตรแบบอินทรีย์ สู่สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรในชุมชนที่สนใจ และสหกรณ์ยังให้การสนับสนุนจัดหาปัจจัยการผลิตและหาตลาดรับซื้อผลผลิตให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย” นายกัณวีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน