เวียดนามวิจัย 10 ข้าวพันธุ์ใหม่ แข่งเดือดตลาดส่งออกเฉือนราคาสู้ไทย

ตลาดส่งออกข้าวสะเทือน เวียดนามรุกหนักพัฒนาพันธุ์สู้ไทยกว่า 10 สายพันธุ์ ส่งข้าวขาวต้นทุนต่ำ-คุณภาพสูง-ราคาถูก ตีตลาด ขณะที่ไทยมุ่งเน้นส่งเสริมชาวนา-ดูแลต้นทุนการผลิต
ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากคู่แข่งส่งออกใหม่ที่พยายามพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นมาสู้ไทย โดยเฉพาะเวียดนามที่พยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวใหม่ ที่มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนต่ำลง ทั้งยังมีคุณภาพสูงออกมาตีตลาดส่งออกเดียวกับไทย ในราคาที่ถูกกว่า โดยล่าสุดจะเห็นว่าเวียดนามได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สายพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติทั้งนุ่ม เมล็ดยาว เพื่อตีตลาดไทย จากก่อนหน้านี้ที่เวียดนามได้พัฒนาข้าวหอม KDM เข้ามาแข่งขัน โดยส่งออกในราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทยถึงตันละ 300-400 เหรียญสหรัฐ
“ไทยมีแต่ข้าวขาวอย่างเดียว แต่เวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวขาว ให้มีความหลากหลายมากกว่า 10 ชนิด มีทั้งแบบที่ราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไป เช่น ข้าวขาวเมล็ดยาว นุ่ม ที่เรียกว่าพันธุ์ 5141 ราคา 450 เหรียญสหรัฐ ข้าว Nang Hua ที่มีลักษณะเหมือนข้าวหอมมะลิ ไม่หอมเท่ากับข้าวมะลิไทย ราคาตันละ 550 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ขาวทั่วไปจะส่งออกราคาตันละ 370-380 เหรียญสหรัฐ ข้าว ST21 เมล็ดสั้น ผสมมาจากพันธุ์ของประเทศไต้หวัน ราคาตันละ 470-480 เหรียญสหรัฐ”
โดยปัจจุบันการส่งออกข้าวของเวียดนามทำได้ปริมาณปีละ 6-6.5 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ ประมาณ 1.5-1.6 ล้านตัน ข้าวเหนียว 600,000 ตัน ข้าวขาวชนิดเดิม และข้าวขาวชนิดราคาสูง อีก 3-4 ล้านตัน จากความได้เปรียบทั้งความหลากหลายของข้าว ที่เจาะตลาดแต่ละเซ็กเมนต์ ความสะดวกและต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น การส่งออกไปจีนผ่านชายแดน โดยไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำให้มีตัวเลขตรงนี้เพิ่มจากช่องทางส่งออกปกติได้อีก 1.5-2.0 ล้านตัน
ร.ต.ท. เจริญ กล่าวอีกว่า หลักการพัฒนาของเวียดนามจะเน้นความต้องการของตลาดเป็นหลัก แล้วมุ่งพัฒนาพันธุ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะที่หลักการพัฒนาข้าวของไทยยังเป็นแบบเดิม กล่าวคือ มุ่งเน้นการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวนาเป็นหลัก และดูแลต้นทุนการผลิต แต่ไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน หรือปรับตัวตามทิศทางตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พันธุ์ข้าวยังเป็นแบบเดิม และยังคุณภาพแย่ลงๆ ทุกวัน เช่น ความหอมลดลง อีกทั้งไทยยังมีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งอีก 7-8% ในปีนี้
ดังนั้น แนวทางแก้ไขไทยต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปี กำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ข้าวหอมที่ต้องการได้ผลผลิตพรีเมี่ยมชั้น 1 ขายราคาตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลินอกเขต แต่ได้ผลผลิตดี เช่น จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแต่ผลผลิตต่อไร่สูง และเมื่อตรวจสอบทางพันธุกรรมแล้ว ได้ความบริสุทธิ์ 92% จะดำเนินการอย่างไร หากมีแผนการปลูกและแผนการตลาดที่ชัดเจน รัฐไม่ต้องไปบอกเกษตรกรว่า ปลูกหรือไม่ควรปลูก เชื่อว่าเกษตรกรพร้อมจะปรับเปลี่ยนด้วยตัวเอง
รายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนแรก มีปริมาณ 6.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.45 ล้านตัน ด้านมูลค่า เท่ากับ 95,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 85,994 ล้านบาท
โดยมาจากการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2560 ที่มีปริมาณ 986,389 ตัน เพิ่มขึ้น 121.7% จากเดือนกรกฎาคม 2559 อย่างไรก็ตามสถานะการส่งออกล่าสุดไทยยังครองความเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 มากกว่าอินเดียที่ส่งออกได้ 6.26 ล้านตัน และเวียดนามที่ส่งออกได้ 3.90 ล้านตัน
ทั้งนี้ ใน 7 เดือนแรกการส่งออกข้าวขาว 3.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.4% ข้าวหอมมะลิ 1.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.3% ข้าวนึ่ง 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 38.4% ข้าวเหนียว 280,913 ตัน เพิ่มขึ้น 54% ข้าวหอมไทย 130,388 ตัน เพิ่มขึ้น 76%
สำหรับตลาดข้าวหลัก ได้แก่ เบนิน ปริมาณ 951,302 ตัน เพิ่มขึ้น 57.2% จีน 761,376 ตัน เพิ่มขึ้น 50.2% แอฟริกาใต้ 377,022 ตัน เพิ่มขึ้น 21.1%
ร.ต.ท. เจริญ ระบุว่า สมาคมคาดว่ายอดส่งออกข้าวในเดือนนี้จะเหลือเดือนละ 700,000-800,000 ตัน เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ และเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด ผู้ส่งออกจึงเพียงส่งมอบข้าวให้กับลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ เท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ