ตื่นตานวัตกรรมใหม่ ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560”

เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ สำหรับเก็บผักตบชวา

ในปีนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)” ระหว่าง วันที่ 23-27 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ศาสตร์พระราชา พัฒนาประเทศไทยเติบโตยั่งยืน

ภายหลังพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัล National Ethics Committee Accreditation System of Thailand (NECAST) และประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีตามมาตรฐาน (มอก. 2677) พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา : วิจัยและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีเนื้อความโดยสรุปดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้สวนจิตรลดาเป็นศูนย์วิจัยค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ เมื่อได้ผลดี จึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความรู้ดังกล่าวไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศ ผลงานของพระองค์ ถือเป็นศาสตร์พระราชา ที่พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ มีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน เป็นแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนไทยมานานกว่า 40 ปี ศาสตร์พระราชา นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลได้น้อมนำไปใช้ในทุกมิติ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่คนไทย เช่นเดียวกับรัฐบาลกว่า 100 ประเทศ ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเอง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสานต่อศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

วช. ร่วมพลังเครือข่ายโชว์ผลงานวิจัย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)” เป็นเวทีระดับชาติ ที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยเริ่มจัดครั้งแรก เมื่อปี 2549 ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ

การจัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัย” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสรรค์ และสร้างแรงขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ระดับประเทศและนานาชาติ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 9 ส่วน ได้แก่ การแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์

นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยร่วมด้วย “ผลงานวิจัยเชิงศิลปะ” และ “ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่” นิทรรศการผลิตผลองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนสังคม (Research for Community) นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษากว่า 127 หน่วยงาน นำเสนอผลงานมากกว่า 500 ผลงาน ใน 7 ประเด็นกลุ่มเรื่องวิจัย ได้แก่ งานวิจัยเพื่อความมั่นคง งานวิจัยเพื่อการเกษตร งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสังคม งานวิจัยเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข งานวิจัยเพื่อพลังงาน งานวิจัยเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 

“บางจาก” สนับสนุนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง 

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนาม “บันทึกความร่วมมือ ในการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์” ระหว่าง นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สร้างโอกาสและนวัตกรรมใหม่ทางด้านผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560

เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ สำหรับเก็บผักตบชวา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ กล่าวว่า “บางจาก” ได้คัดเลือกผลงานวิจัย จำนวน 2 ชิ้น ได้แก่ “ชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์ 2 แกน” ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ระบบแจ้งเตือนการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ในโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มเพื่อให้ประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าสูงสุด ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเคยได้รับรางวัลนานาชาติ ในงาน “45th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มาเป็นโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าและเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ความสำเร็จของผลงานทั้งสองชิ้นนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันและยกระดับให้ผลผลิตจากผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ต่อประเทศ

อุปกรณ์แจ้งเตือนให้ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้ประสิทธิภาพการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสูงสุด เป็นผลงานของ ดร. สุรเชษฐ เดชฟุ้ง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สำหรับอุปกรณ์แจ้งเตือนให้ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้ประสิทธิภาพการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสูงสุด โดยเป็นตัวติดตามวัดผลกระทบจากฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มาปิดบังผิวรับแสงของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่ำลง ทั้งนี้เพื่อให้มีเครื่องแจ้งเตือนที่เหมาะสมในการล้างทำความสะอาดผิวเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงสุด และลดค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดผิวเซลล์แสงอาทิตย์ในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์ยังคงทำงานที่ประสิทธิภาพดีอยู่

เครื่องปั่นไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์ 2 แกน เป็นผลงานของ ผศ.ดร. ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สำหรับชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์ 2 แกน เป็นอุปกรณ์ควบคุมการปรับแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ให้ตั้งฉากกับทิศทางของรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบตลอดเวลา โดยอาศัยศักย์ไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กในการตรวจหาตำแหน่งของดวงอาทิตย์เพื่อควบคุมการขับเคลื่อนมอเตอร์ของระบบติดตามดวงอาทิตย์ ชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์นี้สร้างขึ้นโดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานและมีการต่อวงจรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

 

ส่องนวัตกรรมเด่นด้านเกษตร

สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศได้จัดมุมนิทรรศการโชว์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ภายในงานครั้งนี้กันอย่างคึกคัก ผลงานเด่นที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เด็ก เยาวชน อาจารย์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่

เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา” ผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” เพราะเรือลำนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เคยเข้าร่วมโครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาตามนโยบายรัฐบาล ณ บึงขุนทะเล ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาแล้ว  เรือไฟฟ้าลำนี้สามารถเก็บผักตบชวาได้สูงสุด ชั่วโมงละ 1 ตัน ทำงานติดต่อกันได้ 5 ชั่วโมง ต่อวัน สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เป็นผลงานของ คุณวิมล พรหมแช่ม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.)

ชีวภัณฑ์กรด 5-อะมิโนลีวูลินิก” เป็นผลงานของ ผศ.ดร. อังคณา ใสเกื้อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทร. (075) 773-131 ต่อ 115 อีเมล : [email protected]) ชีวภัณฑ์ชนิดใหม่นี้ผลิตจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงด้วยนวัตกรรมการกักเก็บ/ห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ให้มีความเสถียร คงทน อยู่ได้นาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ให้สามารถปลดปล่อยสารได้ระยะเวลายาวนานยิ่งขึ้น และช่วยเร่งการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ ช่วยให้ใบพืชมีสีเขียวเข้ม สีสวย ผลใหญ่ เพิ่มผลผลิต กระตุ้นการแตกผล แตกตา แตกยอด แตกราก แตกดอก กระตุ้นให้พืชมีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่กดดัน และยังเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในลำต้น ราก ใบ ผล และหัว

ผศ.ดร. อังคณา ใสเกื้อ โชว์ชีวภัณฑ์กรด 5-อะมิโนลีวูลินิก

ผลงานชิ้นนี้ เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และถ้วยรางวัลชนะเลิศด้านการเกษตร (The Top of Agriculture) ในงาน 2016 Kaohsiung International Inventional and Design EXPO (KIDE 2016) ที่เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน จากผลงานที่เข้าประกวดจากทั่วโลกกว่า 300 ผลงาน คาดว่าสารชีวภัณฑ์ตัวนี้จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการค้าปุ๋ยในอนาคต เพราะช่วยให้พืชเติบโตไว ให้ผลผลิตสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน” ในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ประกอบด้วย “เครื่องปั่นไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และเครื่องผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบร่วมกับความร้อนทิ้งจากระบบปรับอากาศ และการทำน้ำร้อนแบบเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ “การสร้างไฟฟ้าจากน้ำ” หรือ เครื่องสำรองไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอนผลิตไฟฟ้าจากน้ำ สำหรับใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง

นวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูก 6 ชนิด ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร” ในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรในชุมชน ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากหนามแดง (มะม่วงหาวมะนาวโห่) “เดอร์ปาริช” ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะจากพืชสมุนไพรท้องถิ่นอีสาน และน้ำปลาหวานจากก้างปลาส้ม ฯลฯ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้นำเสนอนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษเหลือกุ้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำเปลือกกุ้งมาอบแห้งและบดเป็นผงสำหรับนำไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทเส้นหมี่ ขนมปัง คุกกี้ และเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์

เครื่องสำอางจากหนามแดง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

“นวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูก 6 ชนิด” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อชุมชนฐานราก ผศ.ดร. จิระ จิตสุภา สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดตัวนวัตกรรมปุ๋ยและวัสดุปลูก จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย

  1. ปุ๋ยนาโนซิลิคอน เป็นปุ๋ยที่มีอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน ช่วยให้มันสำปะหลังแข็งแรง ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช และมีผลผลิตสูงขึ้น
  2. ปุ๋ยสวนดุสิตไบโอกรีน เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนผสมของแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายพาราควอท (กรัมม็อกโซน) ช่วยให้พืชแข็งแรง เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. ปุ๋ยชีวภาพละลายโพแทสเซียม เป็นปุ๋ยชีวภาพ มีความสามารถในการละลายธาตุโพแทสเซียมในดินดาน ทำให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้โดยตรง ช่วยเพิ่มผลผลิต
  4. ปุ๋ยเจลบีด ควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร ช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารหลักในปุ๋ยเมื่อใส่ลงในดิน ทำหน้าที่ควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างต่อเนื่อง เพิ่มผลผลิต
  5. เม็ดดินเผามวลเบา ใช้เป็นวัสดุสำหรับปลูกพืชหรือคลุมดิน สามารถดูดซับน้ำและปุ๋ยได้ดี ช่วยรักษาความชุ่มชื้นได้ดี
  6. เม็ดดินอินทรีย์ เกิดจากการนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมอาหารไปใช้เป็นส่วนผสมของเม็ดดินเผา ใช้เป็นวัสดุสำปรับปลูกพืช หรือคลุมดิน พื้นผิวมีรูพรุน น้ำหนักเบา สามารถดูดซับน้ำและปุ๋ยได้ดี ช่วยรักษาความชุ่มชื้นได้ดี

ผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. จิระ จิตสุภา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เลขที่ 295 ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กทม. เบอร์โทร. (02) 244-5280-2 หรือ ทางอีเมล [email protected]