แนะทำเครื่องมือแพทย์ผู้สูงวัย จับเทรนด์โลกชี้เทคโนฯ ฆ่าเชื้อขาลง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร : การปรับตัวสู่นวัตกรรม 4.0” จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน ว่า ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) สำคัญทางการแพทย์อยู่แล้ว มีแพทย์และโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานรองรับระดับภูมิภาคและโลก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (นิว เอส-เคิร์ฟ) ที่ภาครัฐสนับสนุน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยปี 2559 อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ถือว่ายังน้อย คิดเป็นสัดส่วน 1.3% ของทั่วโลกที่มีมูลค่า 36.6 ล้านล้านบาท ไทยยังมีช่องว่างที่จะเร่งรัดการพัฒนา และหากสามารถยกระดับได้ คาดว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะเติบโตอีกมาก คาดว่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์จะโตไม่ต่ำกว่า 20-25% ต่อปี ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญามีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (ไอพี ไอดีอี เซ็นเตอร์) จะช่วยให้การพัฒนาต่อยอดเกิดขึ้นได้จริง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์สิทธิบัตรอุปกรณ์การแพทย์ว่าตรงไหนเป็นโอกาสและช่องว่าง

นายวีระเวช อรธนาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลเล็คชวลดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ประเทศที่มีการยื่นจดสิทธิบัตรอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นจำนวนมากได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ดังนั้น การขยายเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์จะต้องให้ความสนใจด้านสิทธิบัตร เพราะมีสิทธิบัตรจำนวนมากที่ยังมีผลคุ้มครองทางกฎหมาย สำหรับไทยยังมีเทคโนโลยีน้อยในทุกด้านเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการแข่งขันระดับสากล อีกทั้งไทยเน้นเทคโนโลยีด้านการฆ่าเชื้อและการลดการติดเชื้อมากเป็นอันดับ 1 แต่ความสนใจของทั่วโลกในด้านนี้ลดลง จึงเห็นว่าไทยควรให้ความสนใจเทคโนโลยีระบบทางการแพทย์และการแพทย์สำหรับผู้สูงวัยจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน