เผยแพร่ |
---|
ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ปรับและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 80 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมปลูกทานตะวันเพื่อปรับภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้อยู่อาศัยให้มากที่สุด นอกจากปลูกเพื่อความสวยงามแล้ว ยังได้มีการวิจัยสายพันธุ์ทานตะวันเพื่อเลือกสายพันธุ์ทีเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุด รวมถึงการศึกษาการแปรรูป และการสร้างมูลค่าด้านการตลาด แต่ตอนนี้เป็นการทดลองปลูกตามธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบความต่างเมื่อใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมในการปลูกรอบใหม่ในอนาคต ศ.ดร. สมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้ทุ่งทานตะวันของวลัยลักษณ์ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นจุดเช็คอินใหม่ของอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ละวนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่เข้าชมและถ่ายภาพที่ระลึก นอกจากความสวยงามของดอกทานตะวันที่บานสะพรั่งเต็มพื้นที่กว่า 80 ไร่แล้ว ฉากหลังของไร่ทานตะวันจะเห็นความงดงามของเทือกเขาหลวงซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ จึงอยากเชิญชวนชาวท่าศาลา หรือนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาแวะเข้าไปชม โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. (075) 673-723 และ (075) 673-725-30
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน