ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พาชมความสำเร็จงานพัฒนานวัตกรรม “โดรนพ่นสารเคมีการเกษตรความแม่นยำสูง” ผลงานความร่วมมือระหว่าง “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” กับภาคเอกชน เผย คุณภาพเทียบเคียงโดรนญี่ปุ่น แต่ราคาถูกกว่า 10 เท่า ลดสัมผัสสารเคมีโดยตรง ได้งานมากกว่าแรงคน 40 เท่า ญี่ปุ่นสั่งทำขายเกษตรกรแล้ว
วันที่ 27 กันยายน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ลงพื้นที่ในทุ่งนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อดูการสาธิตการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่ผลิตโดยคนไทย ภายใต้การสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์ สำหรับพ่นยาฆ่าศัตรูพืช และปุ๋ย ในนาข้าว
นางอรรชกากล่าวว่า อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) อันจะมีการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งจากด้านเกษตรกรรมและวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
นายมนตรี ชนะสิงห์ เจ้าของบริษัท ไลลา เอวิเอชั่น จำกัด ที่รับบริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำโครงการการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรสมรรถนะสูง กล่าวว่า โดรนตัวนี้มีความสามารถในการควบคุมตำแหน่งพ่นสารน้ำ สารชีวภาพ การให้ปุ๋ย และการพ่นยาฆ่าแมลงซึ่งจะลดการฟุ้งกระจายทำให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงในการใช้ยาฆ่าแมลง เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก
“เราทำขึ้นมา 4 ขนาด คือ ขนาดที่สามารถบรรจุสารเคมีและปุ๋ยขนาด 5 /10 /15 และ 20 ลิตร ซึ่งขนาดใหญ่สุดเป็นขนาดเดียวกันกับที่เกษตรกรชาวญี่ปุ่นใช้ ราคาตัวละ 5 ล้านบาท แต่เราสามารถทำได้ในราคาตัวละ 5 แสนบาทเท่านั้น ขณะนี้ได้ทำขนาดเล็กคือตัวละ 3 ลิตรเพิ่มขึ้นมาสำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ ราคาต้นทุนในขณะที่ยังไม่แพร่หลายไม่เกิน 7.5 หมื่นบาท สามารถทำงานได้งานมากกว่าคนถึง 40 เท่า คือ ทำงานได้ 15-20 ไร่ต่อชั่วโมง แบบต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาขายและอบรมการใช้ให้เกษตรกรไทยไปแล้ว 10 ตัว และกำลังจะทำสัญญาผลิตให้ประเทศญี่ปุ่น เพราะเมื่อครั้งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ไปออกบูธที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักธุรกิจญี่ปุ่นมาก เพราะในประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกันแต่เราสามารถผลิตได้ในราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า” นายมนตรีกล่าว