พลิกโฉมแหล่งน้ำพุร้อนเชียงรายต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

เชียงรายดันแหล่งน้ำพุร้อนเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว 5 เส้นทาง พร้อมจับมือ ม.ราชภัฏเชียงราย ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เล็งดูงานต่างพื้นที่ มุ่งเป็นล้านนาออนเซ็น ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มุ่งสู่เชียงราย
นางปราณปริยา พลเยี่ยม
ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงราย มีแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ที่เป็นน้ำพุร้อนจำนวนมาก มีแหล่งน้ำพุร้อนที่ลงทะเบียนแล้วจำนวน 10 แห่ง เช่น น้ำพุร้อนแม่ขะจาน บ้านโป่งป่าตอง ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า มีความร้อนอยู่ระหว่าง 50-100 องศาเซลเซียส น้ำพุร้อนทุ่งเทวี ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า มีความร้อน 45-75 องศาเซลเซียส บ่อน้ำร้อนโป่งปูเฟือง ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย มีความร้อน 70 องศาเซลเซียส บ้านพุร้อนบ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง เป็นต้น
โดยในปี 2560 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำพุต่างๆ จัดกิจกรรม “ล้านนา เวลเนส” เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวสู่แหล่งน้ำพุดังกล่าว แบ่งเป็น 5 เส้นทาง แต่ละเส้นจะเชื่อมโยงน้ำพุร้อนที่อยู่ใกล้กันกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากนี้ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการเชิงสุขภาพจากแหล่งน้ำพุน้ำแร่ต่างๆ เพื่อนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการท่องเที่ยว สุขภาพและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างยั่งยืนด้วย
ด้าน นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย มีนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 2.7 ล้านคน เงินสะพัดจากการท่องเที่ยวเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวที่ไปเยือนมักจะนิยมการสัมผัสกับแหล่งน้ำพุร้อนใน จังหวัดเชียงราย ซึ่งถือว่ามีมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำพุต่างๆ แล้วกว่า 300-400 ล้านบาท แต่พบว่าเป็นการพัฒนาทางกายภาพ โดยไม่ได้เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวหรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าแต่อย่างใด เช่น นำมาต้มไข่ ต้มหน่อไม้ และเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะจุดเท่านั้น
“การที่ภาครัฐสนับสนุนใหม่ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ภาคเอกชนเองได้ระดมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาครัฐ และ มร.ชร.ทำการศึกษาวิจัย ศึกษาดูงานในแหล่งที่มีน้ำพุร้อนทั้งใน เช่น จังหวัดระนอง และต่างประเทศ เช่น ออนเซ็นที่ญี่ปุ่น เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่เชียงราย ล่าสุดหลายแหล่งสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มจากน้ำแร่ ครีมอาบน้ำ ครีมทาผิว แชมพู ประกอบการประคบในสปาต่างๆ ได้แล้ว เป้าหมายตลาด คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มุ่งสู่เชียงรายมากขึ้น”
ดร. พีรญา ชื่นวงศ์ รอง ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการ มร.ชร.กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าแหล่งน้ำแร่ใน จังหวัดเชียงราย สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง จึงถือว่าเป็นน้ำแร่ที่มีคุณภาพและมาจากธรรมชาติที่ไหลออกมาไม่รู้จักหมด ที่ผ่านมาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทราบข่าวโดยเดินทางไปเยือนเพื่อแช่น้ำแร่เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวภายนอกให้ความสนใจน้ำแร่ที่เชียงรายมาก ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการจะนำโคลนน้ำแร่แหล่งน้ำพุร้อน ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง มาใช้ประโยชน์ และศึกษาวิจัยด้านโลจิสติกส์ในการนำน้ำแร่ไปใช้ในสถานประกอบการ เช่น สปา โรงแรม เชื่อว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอนาคต
ด้าน นางสาวภวรัญชน์ คงเดช เจ้าของธุรกิจ The Spa @ Dudsit โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมผลิตภัณฑ์และการใช้บริการเกี่ยวกับน้ำพุน้ำแร่เพื่อสุขภาพ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีสถานประกอบการใดในเชียงรายที่จะมีบริการแช่น้ำแร่ หรือออนเซ็นได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการจะมีการศึกษาวิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อนำน้ำแร่มาใช้ประโยชน์จึงจะขยายการท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ