ข้อควรรู้ในการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองใหญ่ที่ผู้บริโภคมีความต้องการในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว ดังนั้น อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในรูปแบบอาหารแช่แข็งจึงสามารถตอบโจทย์ได้อย่างดี เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายและไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเอง โดยสามารถอุ่นอาหารแช่แข็งนี้ด้วยไมโครเวฟ รอไม่เกิน 5 นาที ก็พร้อมรับประทาน

อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในรูปแบบแช่แข็งนั้น จะผ่านกระบวนการปรุงอาหารก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการแช่เยือกแข็ง ซึ่งในกระบวนการแช่เยือกแข็งจะใช้ช่วงอุณหภูมิสำหรับเยือกแข็ง ที่ประมาณ -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส โดยกระบวนการแช่เยือกแข็งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยับยั้งปฏิกิริยาทางชีวเคมีของอาหาร ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์และปฏิกิริยาทางเคมีที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียของอาหาร จึงช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารให้ยาวนานขึ้นได้

ข้อควรปฏิบัติในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารแช่แข็ง

1. ควรเลือกซื้ออาหารแช่แข็งที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ดี ไม่รอยรั่วหรือฉีกขาด ไม่มีรอยเปื้อน นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ควรทนทานต่ออุณหภูมิต่ำ ปกป้องอาหารจากแสง และอาหารแช่แข็งประเภทพร้อมรับประทาน ควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถอุ่นร้อนในไมโครเวฟได้

2. ควรดูวันหมออายุบนฉลาก ควรเลือกอาหารแช่แข็งที่ยังไม่หมดอายุ

3. สิ่งที่ควรคำนึงเป็นอย่างมาก คือ ความปลอดภัยในด้านจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถเจริญได้เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบนำอาหารแช่แข็งเข้าช่องแช่แข็งของตู้เย็นทันที ไม่ควรปล่อยให้ละลาย เพื่อรักษาสภาพอาหารไว้

4. เมื่อนำอาหารออกมาอุ่น ควรปฏิบัติตามวิธีการอุ่นอาหารบนฉลาก

Advertisement

นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในรูปแบบแช่แข็ง ยังมีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการให้กับผู้บริโภค ซึ่งแสดงปริมาณสารอาหารต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกซื้ออาหารได้ โดยผู้บริโภคควรตะหนักถึง

1. ปริมาณพลังงาน ในวัยผู้ใหญ่ (19-70 ปี) ควรได้รับพลังงาน ประมาณ 2,100 กิโลแคลอรี ต่อวัน สำหรับผู้ชาย และ 1,750 กิโลแคลอรี ต่อวัน สำหรับผู้หญิง (1)

Advertisement

2. ปริมาณไขมันอิ่มตัว แนะนำให้บริโภคปริมาณไขมันอิ่มตัว ประมาณ 20 กรัม ต่อวัน (โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี) (2)

3. ปริมาณน้ำตาล ควรบริโภคปริมาณน้ำตาลทั้งหมดไม่ควรเกินวันละ 65 กรัม (น้ำตาลที่อยู่ในธรรมชาติของอาหารและน้ำตาลที่เติมลงไป) โดยปริมาณสูงสุดของน้ำตาลทรายที่สามารถเติมได้เพิ่มในอาหาร ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา (24 กรัม) ต่อวัน (3)

4. ปริมาณโซเดียม องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือเท่ากับบริโภคเกลือได้ไม่เกิน วันละ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาได้ไม่เกิน 4 ช้อนชา ต่อวัน การได้รับปริมาณโซเดียมมากหรือน้อยเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากที่ได้รับในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการต่อวัน

การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียมในปริมาณสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้น ในการเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในรูปแบบแช่แข็ง ควรดูปริมาณสารอาหารต่างๆ บนฉลากโภชนาการ และควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้บริโภคเอง

อ้างอิง :

  • ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546 (Dietary Reference Intake for Thais 2003), กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  • บัญชีสารอาหารที่แนะนำให้ควรบริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes-Thai RDI), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
  • ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568, กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร. ณัฐธิดา โชติช่วง

อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

www.cpfworldwide.com

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ