ผู้เขียน | อลงกรณ์ รัตตะเวทิน |
---|---|
เผยแพร่ |
สาวสวยคณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชั้นปีที่ 4 “คุณภูษณิศา อัจฉริยพานิชกุล” โชว์เมนูสำหรับสายเฮลท์ตี้ที่ดีต่อใจ ด้วยการพัฒนา “น้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่” เสริมคุณค่าโภชนาการและเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำสลัด
คุณภูษณิศา เล่าว่า ความต้องการในการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพในปัจจุบันมีอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากยิ่งขึ้น พืชพันธุ์ธัญญาหารที่ผู้บริโภคกำลังนิยมและให้ความสนใจ นั่นคือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่นทางโภชนาการ เป็นธัญพืชเพื่อสุขภาพ มีสีและกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินอี แกมมาโอไรซานอล สังกะสี และโฟเลต ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบของผิวหนัง ชะลอความแก่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูงและโรคสมองเสื่อม ช่วยบำรุงโลหิต และข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังมีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล มีผลดีต่อระบบขับถ่าย
จึงมีแนวคิดและตั้งใจที่จะทำการพัฒนาน้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยการใส่น้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ลงในน้ำสลัด ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในน้ำสลัดและเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำสลัด และได้ศึกษาปริมาณน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ต่อคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี และการยอมรับทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์น้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยมี ดร.ลลิตา ศิริวัฒนานนท์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่จะนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ทำได้โดยการนำข้าวไรซ์เบอร์รี่ล้างน้ำให้สะอาดและตากพักข้าวไว้ จากนั้นต้มน้ำให้เดือดและใส่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ในอัตราส่วน 150 กรัม ต่อน้ำ 300 มิลลิลิตร ต้มนานประมาณ 30 นาที และยกลงจากเตาพักไว้ให้เย็นประมาณ 5 นาที แล้วนำข้าวที่ผ่านการต้มใส่เครื่องปั่น พร้อมด้วยน้ำสะอาด 30 มิลลิลิตร ด้วยความเร็วสูงสุด 2 นาที และความเร็วต่ำ 1 นาที แล้วจึงเทผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงในภาชนะที่เตรียมไว้
ขั้นตอนการทำน้ำสลัด
- น้ำตาลทรายขาว 75 กรัม น้ำส้มสายชู 100 กรัม พริกไทยป่น 5 กรัม มัสตาร์ด 5 กรัม นมข้นหวาน 45 กรัม ไข่แดง 50 กรัม เกลือป่น 5 กรัม และน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เตรียมไว้ประมาณ 107 กรัม (ร้อยละ 20) ใส่ลงในเครื่องปั่นให้เข้ากันด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 2 นาที
- เติมน้ำมันพืช 250 กรัม ลงไปเครื่องปั่นทีน้อย ปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น พร้อมรับประทานคู่กับผักสลัดสดต่างๆ
คุณภูษณิศา อธิบายถึงการศึกษาการเสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ในน้ำสลัดว่า ในสูตรน้ำสลัดที่เสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อยละ 0, 20, 40 และ 60 เมื่อนำมาทดสอบการยอมรับผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคมีความชอบโดยรวมในน้ำสลัดเสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อยละ 20 มากที่สุด และเมื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าความหนืด พบว่าความหนืดของสูตรน้ำสลัดเสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่มีค่ามากกว่าชุดควบคุม
จากการนำน้ำสลัดที่ไม่ได้เสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ และน้ำสลัดเสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อยละ 20 (สูตรที่ผู้ทดสอบชิมให้คะแนนความชอบโดยรวมมากที่สุด) นำมาเปรียบเทียบกันพบว่า น้ำสลัดเสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อยละ 20 มีค่าปริมาณเถ้า ความชื้น โปรตีน เส้นใย และคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่น้ำสลัดที่ไม่ได้เสริมน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีปริมาณไขมันมากกว่าน้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อยละ 20
ด้วยความชอบวิทยาศาสตร์และสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร จึงเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดและก้าวถัดไปของเธอนั้น ต้องการที่จะโลดแล่นในโรงงานอุตสาหกรรมและเปิดธุรกิจส่วนตัวตามความชอบและความถนัดตนเองต่อไป ผู้สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำสลัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โทร. (02) 592-1955 หรือ (091) 816-4884