ITAP-สวทช. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ปลุกชีวิต พลิกฟื้นขยะโรงพยาบาล ด้วยการออกแบบ

ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลกลาง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP:ไอแทป) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและดูแลบริหารจัดการโครงการ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ฯ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการ Upcycling: Value creation with design แก่โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ด้วยการการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ หรือ Upcycling ด้วยการออกแบบ พร้อมเปิดแสดงนวัตกรรมผลงานอัพไซคลิ่งจากของเหลือใช้ในโรงพยาบาลกลาง

ขยะโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ทุกคนหวาดกลัว ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ความจริงที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับขยะโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลมีระบบบริหารจัดการขยะอย่างเป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การกำหนดประเภทขยะ การคัดแยกขยะ การกำจัดขยะ ทำให้พบว่า มีขยะบางส่วนเป็นของเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะของเหลือใช้ที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สะอาด ปลอดภัย และมีปริมาณมาก แต่ถูกเหมารวมและถูกกำจัดเป็นขยะติดเชื้อไปด้วย เช่น ผ้าห่ออุปกรณ์ผ่าตัด เป็นผ้ารูปแบบ Non-woven ที่ใช้ห่ออุปกรณ์ผ่าตัด ซึ่งมีหลายขนาด ที่สำคัญคือ สะอาด ปลอดภัย และมีมากถึง 6,800 ชิ้นต่อเดือน หรือขวดน้ำเกลือที่เมื่อนึกถึงโรงพยาบาลต้องนึกถึงสิ่งนี้ซึ่งมีเหลือเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยรวมแล้วมีขยะเหลือทิ้งจากโรงพยาบาลกลาง กว่า 200,000 ชิ้นต่อเดือน ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลกลางจึงเห็นความสำคัญการนำขยะกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง และเพื่อเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ให้สถานพยาบาลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมและนักวิจัยด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม เผยว่า “ถ้าเราสามารถนำขยะจากโรงพยาบาลมาเป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างประโยชน์โดยเฉพาะกับสถานพยาบาลเองได้ เราจะช่วยลดภาระ ส่งเสริมนวัตกรรม สร้างรายได้และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากทุกโรงพยาบาลประเทศไทยนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ จะช่วยลดขยะในประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และเป็นต้นแบบสถานพยาบาลรักษ์โลกอย่างมีสุนทรียะด้วย ตัวอย่างนวัตกรรมผลงานการออกแบบขยะจากโรงพยาบาลกลาง เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการใช้งานในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อคนในโรงพยาบาล เช่น แผ่นรองสระผมสำหรับคนไข้ หมอนรองคอทำฟัน กระเป๋าข้างเตียง ออกแบบเพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์กับหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และคนไข้ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น ที่นอน ชุดที่นั่ง Space Chair เสื้อกันฝน ออกแบบเพื่อใช้งานสำหรับบุคคลทั่วไป และสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการขาย เช่น น้ำยาล้างจาน ชุดเพ้นผ้า เป็นต้น โดยทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือการพัฒนาของบุคลากรในโรงพยาบาลเอง ร่วมกับตน และคณะ เพื่อพัฒนาสู่แนวคิด Upcycling Hospital แห่งแรกของประเทศไทย”

นวัตกรรมผลงานอัพไซคลิ่งจากของเหลือใช้ในโรงพยาบาลกลาง

ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลกลาง

ด้าน ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า “การเปลี่ยนวิธีคิดและเปิดใจยอมรับว่าขยะในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด แต่กลับเป็นของเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติดีเป็นพิเศษ ย่อมทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำขยะโรงพยาบาลกลับมาออกแบบ พัฒนา ให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง นอกจากจะเกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการปลุกจิตสำนึกและพัฒนาทักษะต้านต่างๆ ของบุคลากรในโรงพยาบาล และที่สำคัญ คือนำไปสู่การสร้างรายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัวและองค์กรอีกด้วย”

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Upcycling: Value creation with design เพื่อเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ในโรงงานหรือสถานประกอบการ สามารติดต่อสอบถามและประสานขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โปรแกรม ITAP สวทช. คุณพนิตา ศรีประย่า โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301 อีเมล [email protected]