มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขและบรรเทาความทุกข์ยากที่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เพื่อมิให้เกษตรกรเหล่านั้นละทิ้งแผ่นดิน โดยทรงเน้นให้มีความ “พออยู่ พอกิน” สามารถพึ่งตนเองก่อน จึงค่อยสร้างความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ได้ทรงแนะแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ยึดมั่นในวิถีพอมีพอกิน และพึ่งพาตนเองได้ มีอยู่มีกิน ไม่ฟุ่มเฟือย มีความโลภน้อย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พอประมาณตามอัตภาพ และมีเหตุผล ซึ่งทรงหมายความถึงคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ มีปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกเป็นอย่างดี (คณะอนุกรรมการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท, 2558)

เกษตรกรรมถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย มีแรงงานในภาคการเกษตรกว่า 11 ล้านคน (สถิติแรงงาน, 2558) โดยรายได้หลักของประเทศไทยส่วนหนึ่ง คือการขายสินค้าซึ่งเป็นผลผลิตจากการเกษตร ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และข้อจำกัดทางการค้าด้านอื่นๆ ดังนั้น เกษตรกรของประเทศไทย ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมในด้านต่างๆ ในทุกระดับของการเกษตรจึงควรมีวิสัยทัศน์ มีการพัฒนาความรู้ความสามารถในกิจกรรมด้านการเกษตรในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การจัดรูปแบบการใช้งานของที่ดินและแหล่งน้ำ วิธีการในการเพาะปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลิต ทั้งนี้ ควรมีรูปแบบการปฏิบัติด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจน มีมาตรฐาน เพื่อเป็นการยกระดับการผลิตของเกษตรกรให้เป็นสากล เกษตรกรเกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในวิชาชีพการเกษตร

การน้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร จะส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความพร้อมในอาชีพมีความรู้ ความสามารถในการวางแผนการผลิตและกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุล มีนวัตกรรม พึ่งพาตนเองได้ และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคงและความยั่งยืนในอาชีพการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงทั้งทางอาหารและเศรษฐกิจ การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเป็นการพัฒนาเกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีสมรรถนะอาชีพในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทิศทางการพัฒนาการเกษตรในบริบทของไทยแลนด์ 4.0

โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นโครงการความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)