สอศ.พัฒนาสอนช่างอากาศยานสู่สากล ปลื้มตลาดการบินขานรับ “เด็กอาชีวะ” เข้าทำงาน

นายวณิชย์ อ่วมศรี ประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนฯ และคณะทำงาน 3 คณะ โดยมีตนเป็นประธานนั้น ขณะนี้คณะทำงานทั้ง 3 คณะ คือ 1. ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 2. ด้านครุภัณฑ์ และ 3. ด้านการพัฒนาครูช่างอากาศยาน ได้ปรับปรุงหลักสูตร กำหนดครุภัณฑ์ที่จำเป็น และกำหนดแนวทางการพัฒนาครูช่างอากาศยาน ให้เป็นไปตามข้อตกลง ข้อกำหนด และมาตรฐานของ ICAO Doc. 7192 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เสร็จสิ้นแล้ว
“หลักสูตรที่ได้รับการพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการสอบใบอนุญาต (license) เพื่อทำงานกับสายการบินได้ทั่วโลก จึงเพิ่มเติมสาขาวิชาด้านการบินอีก 3 สาขาวิชา พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เข้าเรียนต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ และได้คะแนน TOEIC ไม่น้อยกว่า 350 คะแนน โดยการเรียนการสอนใช้รูปแบบทวิภาคี ระยะเวลา 2 ปี 1 ภาคฤดูร้อนในหนึ่งภาคเรียน รวม 3,200 ช.ม. แบ่งเป็นทฤษฎี 1,134 ชั่วโมง และปฏิบัติ 2,066 ชั่วโมง มากกว่าหลักสูตรระดับอนุปริญญา สาขาวิชานายช่างบำรุงรักษาอากาศยานของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ที่มีชั่วโมงเรียน 2,676 ชั่วโมง รวมทั้งมีการวัดประเมินผล โดยแต่ละวิชาต้องผ่านเกณฑ์ 70 เปอร์เซ็นต์ และจัดข้อสอบกลางเพื่อประเมินผู้จบการศึกษา โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560” นายวณิชย์ กล่าว
ขณะนี้มีสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับการส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทช่างอุตสาหกรรม สาขาช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของ CAO Doc. 7192 กพท. และ สคช. 6 แห่งคือ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ถลาง วท.ดอนเมือง วท.สมุทรปราการ วท.อุบลราชธานี วท.สัตหีบ และวิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ขอนแก่น โดย วท.ถลาง นำร่องเปิดสอน และมีนักศึกษาจบการศึกษารุ่นแรกแล้ว 22 คน ได้งานทำทุกคน และได้รับเงินเดือนแรกเริ่มสูงกว่าวุฒิปริญญาตรี เฉลี่ย 18,000-30,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด