เกาะติดปัญหาความล่าช้า จัดซื้อ “สารบีที” 289 ล้าน “มะพร้าว” ทั่วไทยจ่อวิกฤต

นานกว่า 6 เดือนแล้ว ที่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชาวสวนอีก 28 จังหวัด รอการสนับสนุนสารเคมีเพื่อฉีดเข้าลำต้นและฉีดพ่นทางใบ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างหนักของแมลงดำหนาม ตามโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ 289 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้หนอนหัวดำจะลดลงไม่น้อยกว่า 70% ตามนโยบายของของ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ สั่งการให้แก้ปัญหาเร่งด่วน ภายหลังเดินทางไปติดตามการระบาดในสวนมะพร้าวที่ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวคุณภาพดีกว่า 5 แสนไร่ มูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่า 5 พันล้านบาท แต่มีการระบาดอย่างรุนแรงที่สุดในประเทศ ส่งผลกระทบกับผลผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ออกมาระบุว่า การจัดซื้อสารเคมีแก้ปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าว ตามโครงการหลังจากรัฐบาลจัดสรรงบกลางมอบให้พื้นที่ระบาดทั่วประเทศนำไปดำเนินการ ได้จัดซื้อสารเคมีด้วยระบบ “อี-บิดดิ้ง” ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม แต่ได้ยกเลิกการจัดซื้อเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เนื่องจากไม่มีผู้เสนอรายละเอียดถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด และขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดซื้อสารเคมีโดยวิธีพิเศษ คาดว่าจะสามารถจัดซื้อและส่งสารเคมีให้สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ แต่นายสมชายไม่ได้ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีการระบาดของแมลงดำหนามเพิ่ม จากการจัดซื้อสารเคมีล่าช้า

ขณะที่ นายธีรศักดิ์ ฑีฆายุวัฒนา กำนันตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก เผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวทั้งตำบล หลังจากสำนักงานเกษตรอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหาย พร้อมทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ไว้สำหรับต้นมะพร้าวที่ถูกแมลงกัดกินทั้งอำเภอ แต่เวลาผ่านไปหลายเดือน ชาวสวนมะพร้าวยังไม่ได้รับแจกสารเคมี ทำให้มีการระบาดของแมลงดำหนามขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากเดิมที่มีการสำรวจไว้

“ปัญหาได้รับสารเคมีล่าช้าทำให้มีชาวบ้านบางส่วนต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้สารเคมีบางประเภททำให้มีผลกระทบกับลำต้นมะพร้าวได้รับความเสียหาย และการใช้สารเคมีบางประเภททำให้มีสารตกค้างในผลผลิตที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีประกาศสนับสนุนให้ประชาชนปลูกมะพร้าวเพิ่ม เนื่องจากเป็นพืชที่มีอนาคต แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้เร่งแก้ปัญหา” นายธีรศักดิ์ กล่าว

นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของ บริษัท นิลทองแท้ จำกัด อำเภอทับสะแก ในฐานะผู้รับซื้อมะพร้าวรายใหญ่ในประเทศ บอกว่า การแก้ไขปัญหาการระบาดของแมลงดำหนามที่ผ่านมาได้ซื้อสารอิมาเม็กติน ผลิตจากประเทศจีน ฉีดเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูงกว่า 12 เมตร ส่วนต้นที่ต่ำกว่า 12 เมตร จะใช้ปริมาณยาน้อยกว่า 20 ซีซี เพื่อกำจัดหนอนหัวดำ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ยอมรับว่าใช้ได้ผลดี ไม่มีสารตกค้าง มีราคาถูกกว่าสารอิมาเม็กติน เบนโซเอท ที่ทางราชการจะจัดซื้อกว่า 3 เท่า และเพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบกับผลผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออก ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบและทบทวนการใช้งบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่ผ่านมา

“ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นานกว่า 15 ปี มีการใช้งบประมาณของทางราชการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ขาดการประเมินผล และไม่ได้มีกระบวนการจากการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายสายชลกล่าว

จากรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าหน่วยงานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการจัดซื้อสารบีทีหรือเชื้อแบคทีเรีย เพื่อกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ในปีงบประมาณ 2553-2555 โดยใช้งบทดรองราชการจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กว่า 200 ล้านบาท หลังจากมีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินหลายครั้ง จากการระบาดของหนอนหัวดำในหลายอำเภอ ขณะนี้การใช้งบอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจากสำนักงบประมาณยังไม่พิจารณาคืนเงินยืมให้กับ ปภ. และต่อมาเมื่อปี 2556 ปภ.ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติในการใช้งบปราบศัตรูมะพร้าวทั่วประเทศ หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันหน่วยงานในจังหวัดไม่ได้จัดซื้อสารเคมีชนิดใดๆ แจกประชาชน

ส่วนการแก้ไขปัญหาจากการจัดซื้อสารบีที นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บสารบีที ตามโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ อ.ทับสะแก และ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งรัดให้มีการเคลื่อนย้ายสาร

บีที มูลค่า 32.8 ล้านบาท ที่เก็บที่อำเภอเมือง และสารชนิดเดียวกันมูลค่า 24.7 ล้านบาท ที่ อำเภอทับสะแก นานกว่า 5 ปี เป็นวัตถุอันตรายประเภท 2 เป็นขยะพิษ โดย สตง.ขอให้จังหวัดเร่งพิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยเร็ว

ภายหลังผู้ว่าการ สตง.นำคณะเดินทางมาตรวจสอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา แม้ว่าที่ผ่านมาทางราชการยังไม่ได้ใช้งบประมาณจัดซื้อสารเคมีดังกล่าว หลังจากกรมวิชาการเกษตรแจ้งหนังสือถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่าสารบีทีที่จัดซื้อไม่มีการขึ้นทะเบียนรับรอง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกับหน่วยงานราชการได้ จากนั้น สตง.สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อสารบีที เมื่อปีงบประมาณ 2553-2554 ว่าใช้มาตรฐานและหลักเกณฑ์ใด จากนั้นคณะกรรมการได้เห็นชอบให้ฝ่ายปกครองจังหวัดทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้บริษัทคู่สัญญา เพื่อให้เคลื่อนย้ายสารบีที โดยปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ระบุว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนให้เร็วที่สุด เพื่อให้บริษัทเคลื่อนย้ายสารบีทีออกจากสถานที่ราชการและเมรุร้าง พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกำจัดวัตถุอันตราย

ทว่า..ล่าสุดสารบีทีมูลค่ารวมกว่า 57.5 ล้านบาท ยังกองไว้ในหอประชุมอำเภอเมืองและเมรุร้างวัดนาหูกวาง อำเภอทับสะแก เพื่อประจานความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐ และเป็นการซ้ำเติมโอกาสของชาวสวนมะพร้าวทั้งจังหวัดที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาความเสียหาย ส่งผลให้แมลงศัตรูมะพร้าวระบาดอย่างหนักจนถึงปัจจุบัน และต้องรอสารเคมีที่จะจัดซื้อครั้งใหม่เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน

ขอบคุณข้อมูลจาก สุรยุทธ ยงชัยยุทธ