พลังงานปั้นตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าส่งนอก ชูขึ้นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ อัดงบ 76 ล. ชวนปรับปรุงฟรี 10 คัน

ก.พลังงานเล็งชูรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าขึ้นโปรดักส์แชมเปี้ยนส่งขายทั่วโลก เผย 3 ประเทศในยุโรปทั้งฝรั่งเศส สวีเดน และเดนมาร์กนิยมใช้ หนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศลดต้นทุนนำเข้าราคาสูง อัดงบ 76 ล้านบาท ผลิต 100 คัน ชวนนำรถเก่ามาปรับปรุงใหม่ฟรี 10 คัน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเปิดโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ว่ากระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและเครื่องยนต์ปกติ คือน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทั่วประเทศ จำนวน 7 ราย ถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดให้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในการส่งออกไปขายทั่วโลก เพราะปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยเป็นที่นิยมของผู้ใช้รถและมีการจำหน่ายแล้วใน 3 ประเทศทวีปยุโรป คือฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก ขณะที่การผลิตในประเทศเพื่อใช้ส่วนบุคคลก็มีแพร่หลาย ผู้ผลิตไทยมีความสามารถ แต่ติดปัญหาแบตเตอรี่ราคาแพงประมาณ 100,000 บาท ต่อลูก และต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในแผนการสนับสนุนโปรดักส์แชมเปี้ยนจะรวมถึงการสนับสนุนให้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งจะต้องประสานกับความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายทวารัฐ กล่าวว่า กระทรวงยังมีแผนสนับสนุนให้ผลิตและใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสาธารณะในประเทศมากขึ้น โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานวงเงิน 76 ล้านบาท ร่วมกับหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าภายในปี 2561 จำนวน 100 คัน ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือของกระทรวง ระยะ 1 จะกำหนดให้มีรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบ จำนวน 10 คัน โดยจะเปิดให้นำรถเก่ามาสมัครเพื่อปรับปรุงให้เป็นรถใหม่ฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ส่วนอีก 90 คัน ที่เหลือ เป็นระยะ 2 กระทรวงจะสนับสนุนในอัตรา 85% วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท และเจ้าของรถจ่ายเอง 15% ไม่เกิน 50,000 บาท จากราคารถไม่เกิน 350,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากรถมีราคาแพงกว่านี้กระทรวงจะกำหนดวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 90 คัน จะแบ่งเป็นการใช้สำหรับโดยสารสาธารณะ 70 คัน และรถส่วนบุคคล 20 คัน เพื่อใช้ในสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงแรม สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล โดยโครงการดังกล่าวกระทรวงได้กำหนดเป็นแผนระยะยาว คือภายในปี 5 ปี (2561-2565) จะผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าให้ได้ 22,000 คัน ตามจำนวนรถตุ๊กตุ๊กทั้งหมดที่วิ่งในประเทศไทย

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงสนับสนุนให้รถตุ๊กตุ๊กที่ปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เปลี่ยนเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ต้องการให้เกิดรถอีวีในประเทศจำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2579

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน