ผลตรวจช็อกโกแลตในตลาด พบ 18 ชนิด ปนเปื้อนโลหะหนัก

อึ้งหนัก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจ”ช็อกโกแลต” 19 ชนิด พบ 18 ชนิดปนเปื้อน “ตะกั่ว แคดเมียม”

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ แถลงข่าวผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และตะกั่ว ในช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง ที่เป็นที่นิยมในตลาดทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลต อื่นๆ  9 ตัวอย่าง ผลการทดสอบมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย คือ ลินด์ สวิส คลาสสิก ไวต์ ช็อกโกแลต ขณะที่อีก 18 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของตะกั่ว และ/หรือแคดเมียม ดังนี้ 1. พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว 8 ตัวอย่าง 2. พบการปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียม 10 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานในต่างประเทศ

นางสาวสารี กล่าวว่า แม้จะไม่มีตัวอย่างใดพบการตกค้างตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการอ่านฉลากพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ซึ่งทั้งสองตัวอย่างผลิตในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ การไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 คือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหาร มีความเป็นไปได้ว่านำเข้าอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีบทลงโทษคือ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม (มก./กก.) หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ได้ไม่เกิน 2 มก./กก. แต่ แคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้   

นางสาวอัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ การได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียม ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก ซึ่งสารโลหะหนักทั้ง 2 ชนิดนี้จะส่งผลเสียหายต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กที่คล้ายกัน กล่าวคือ ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลง ผลการเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น และก้าวร้าว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบสืบพันธุ์ ตับ ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด

ทั้งนี้ สามารถติดตามผลการสำรวจช็อกโกแลตดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/news-consumerthai/ffc-news/4054-601004_news.html หรือ https://goo.gl/b1cWGx

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน