แนะไอเดียแก้ปัญหาแบบคนญี่ปุ่น หลักง่ายๆ แค่ “ช่วยกันคิด”

เกษตรกรไทย กับ การเดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลช่วย ทั้งแทรกแซงราคา พยุงราคา ช่วยออกเงินเฉยๆ เป็นความคุ้นเคย จนบางทีผมแอบตั้งคำถามในใจว่า “ไม่มีวิธีอื่น” อีกแล้วหรือ

ยิ่งถ้ารัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง การหาทาง “เอาใจ” กลุ่มเกษตรกร ที่มีจำนวนมาก พูดง่ายๆ เป็นฐานเสียงใหญ่ของประเทศ เป็นสิ่งที่นักการเมืองนิยมทำ แต่ไม่ได้เกิดการ “แก้ปัญหา” อย่างยั่งยืน

ที่จังหวัดโออิตะ ตั้งอยู่ที่เกาะคิวชู เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น ต้นกำเนิดโอท็อปที่ประเทศเราไปลอกเขามา เพียงแต่วิธีการของเรากับเขาต่างกันโดยสิ้นเชิง

โอท็อปของญี่ปุ่นเขาเรียก โอว็อป (OVOP) คือบ้านเขาไม่เรียกตำบล เขาเรียกหมู่บ้าน เลยเป็น OVOP (One Village One Product) เกิดเพราะชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องการปลูกข้าว ภาครัฐบอกให้ปลูก แต่ปลูกแล้วไม่ค่อยดี ชาวบ้านเลยรวมตัวช่วยกันคิดแก้ปัญหา ปลูกบ๊วย ปลูกเกาลัด แทนการปลูกข้าว ทำตลาดกันเอง ไม่สนใจภาครัฐ

เขารวมตัวกัน เพื่อ “ใช้ความรู้” แต่เกษตรกรของไทยเรารวมตัวกันเมื่อ เพื่อ “เรียกร้อง”

เขาช่วยกันทำ จนภาครัฐต้องกระโดดเข้ามาสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ช่วยทำร้านกระจายสินค้าให้ ขอเอาต้นแบบแนวคิดไปเผยแพร่ให้ที่อื่นๆ ทำตาม ทำดี มียกย่อง

แต่ของเราไปลอกเขาครึ่งเดียว แทนที่จะเอาแนวคิดมาผลักให้ชาวบ้านทำ แต่ภาครัฐกลับโยนเป็นนโยบายลงไปให้ทำ เอาคนภาครัฐเข้าไปพยายามเปลี่ยนให้ชาวบ้านทำตามที่ต้องการ บางชุมชนทำไป “แบบงงๆ” แต่ได้ “งบสนับสนุน” จึงไม่ต้องถามหาเหตุผลให้เวียนหัว

โอว็อปของญี่ปุ่นทำเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชน แต่โอท็อปของไทยทำเพื่อสนองนโยบายรัฐ เจ้าหน้าที่ต้องทำเพื่อให้มี “ฉากถ่ายรูป” นำเสนอเป็นผลงาน แต่ชาวบ้านยังคิดไม่ออกเหมือนเดิม

เรื่องนี้เป็นอดีตไปนานแล้ว ช่างมันเหอะ แต่ผมชอบอีกเรื่องที่น่าสนใจ สะท้อนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีแก้ปัญหาแบบญี่ปุ่นที่น่าสนใจ

หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ท่าเรือคามาเอะ ในจังหวัดโออิตะ แหล่งเดียวกับต้นกำเนิดโอท็อปนั่นแหละครับ เป็นชุมชนที่ค้าขาย “ปลาฮิราเมะ (ปลาตาเดียว)” เป็นสินค้าหลัก แต่ว่าประสบปัญหายอดขายตกต่ำ เพราะเจอคนต่างถิ่นเอาปลาตาเดียวมาขายราคาถูก คนญี่ปุ่นไม่เดินขบวนครับ แต่หันมาช่วยกัน “ทำวิจัย”

ผมฟังทีแรก ยังนึกไม่ถึงเลยว่า คิดมาได้ยังไง เพราะในเขตพื้นที่แห่งนี้ นอกจากปลาตาเดียวแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่อง “ส้มคาโบสึ” ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งของดีในโออิตะ

ฟังครั้งแรกผมได้แต่รำพึงว่า “มันบ้าไปแล้ว” เพราะอุตริจะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีปลาตาเดียวและน้ำส้มมารวมกัน

ได้ยินจั่วหัว ผมนึกถึงว่า คงเป็นการขายแพ็กคู่ ซื้อปลาแถมน้ำส้ม หรือซื้อน้ำส้มแถมปลา หรือว่าสร้างเมนูปลาราดซอสส้มอันโอชะ อะไรแนวนั้น

แต่เขาพัฒนา “ปลาตาเดียวรสส้ม” ครับ

รสส้มที่ผมพูดถึงคือ เนื้อของปลาตาเดียว มีรสส้มฝังในเนื้อตามธรรมชาติเลยครับ

เขาเริ่มต้นที่ “การวิจัย” คือ ทำการทดลอง ด้วยการตั้งสมมติฐานว่า ถ้าให้ปลาตาเดียวที่เอามาเพาะพันธุ์ กินอาหารที่ผสมน้ำส้มทุกวัน กลิ่นรสของน้ำส้มจะแทรกและฝังอยู่ในเนื้ออย่างเป็นธรรมชาติ

ใครหนอ…อุตริคิดแท้

แต่เชื่อไหมว่า “เป็นจริงได้”

ความร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา คือสิ่งที่เกษตรกรชาวญี่ปุ่นทำ เขาแบ่งการทดลองออกเป็นหลายกลุ่มตัวอย่าง โดยสร้างอัตราส่วนการผสมอาหารกับน้ำส้มไม่เท่ากัน เช่น อาหาร 99 เปอร์เซ็นต์ น้ำส้ม 1 เปอร์เซ็นต์ อาหาร 98 เปอร์เซ็นต์ น้ำส้ม 2 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ ถ้าคนเดียวทดลอง คงเปลืองกลุ่มปลาตัวอย่างจำนวนมาก

แต่ละฟาร์มแบ่งกันครับ ช่วยกันทดลอง แต่เอาผลการทดลองมารวมกัน หาข้อสรุปร่วมกัน ใช้เวลาราว 2 ปี จึงได้คำตอบ 2 อย่าง

อย่างแรกคือ สมมติฐาน “เป็นจริง” การให้ปลาตาเดียวกินอาหารผสมน้ำส้ม ทำให้เนื้อปลาตาเดียวมีรสส้มฝังเข้าเนื้อได้จริง

อย่างที่สอง ค้นพบสูตรที่เหมาะสมว่าควรผสมอาหารเท่าไหร่ และน้ำส้มเท่าไหร่ ที่จะให้ผลสูงสุดในการเปลี่ยนเนื้อปลาตาเดียว ให้มีรสส้มสมใจนึก

หลังการอดทนรอคอย หมู่บ้านประมงแห่งนี้ ก็มีสินค้าเชิดหน้าชูตา กลายเป็นจุดขาย เป็นแบรนด์ท้องถิ่น นั่นคือ “ปลาตาเดียวรสส้ม” ซึ่งหากินที่ไหนไม่ได้ นอกจากที่นี่เท่านั้น

ฟังแล้วอะเมซิ่งไหมครับ การตั้งสมมติฐาน แล้วทดลอง เพื่อหาคำตอบ เราเรียกวิธีการนี้ว่าเป็นการ “วิจัย” รูปแบบหนึ่ง

แทนที่จะมาเรียกร้องโวยวายให้ช่วยอย่างเดียว เขาเริ่มต้นด้วยการ “คิด” แล้วก็คิด คิด คิด คิด…

ตั้งสมมติฐาน ทดลอง ทำวิจัยด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอภาครัฐมาบอก ผลสำเร็จผมเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งชุมชน เพราะเขาช่วยกัน ทุกคนมีส่วนร่วม เวลาพูดถึงผลิตภัณฑ์นี้ เป็นนวัตกรรมทางการเกษตร ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ปลาตาเดียว”

การโดนคู่แข่ง ส่งปลาตาเดียวราคาถูกเข้ามาแย่งชิงตลาด ก็ไม่มีผลต่อไป เพราะปลาตาเดียวของคามาเอะ “มีมูลค่าเพิ่ม”

ผมอยากเห็นเกษตรกรไทย แก้ปัญหาแบบนี้บ้างครับ และก็อยากเห็นเจ้าหน้าที่ผู้ส่งเสริมด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรเริ่มต้นจากการ “คิด” ไม่ใช่จากการ “ถาม” ว่าจะปลูกอะไร หรือเลี้ยงสัตว์อะไร แล้วก็แห่ทำตามกัน ถึงเวลาผลผลิตออกมามโหฬาร ไม่มีตลาด ก็ต้องมาเรียกร้องให้รัฐช่วยซื้อ

บางทีผมเองก็สงสัยว่า ในเมื่อปลูกแล้วราคาไม่ดี ทำไมไม่เลิก ไม่เปลี่ยน ไม่หาสิ่งอื่นมาทดแทน

หรือเราเคยชินกับการเสนออ้อมแขนมาช่วยอุ้มจากภาครัฐจนชิน จนไม่สามารถคิดเองได้

ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้โง่ ถ้าเราจะคิด เราก็คิดได้ไม่แพ้ใครในโลก เพียงแต่เราไม่ถูกสนับสนุนให้ทำเช่นนั้น แล้วก็มีคนชอบมาสปอยล์ให้เราไม่คิด แค่เรียกร้องก็ได้รับ

ถ้าการเดินไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถงัดมาสู้ชาวโลก ด้วยการมีสมาร์ตฟาร์มเมอร์ เรื่องนี้คงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจนะครับ

เมื่อใดที่เราประสบปัญหา อย่าเริ่มต้น “เรียกร้อง” แต่หันมา “ช่วยกันคิด” แล้วช่วยกันลองทำ เราก็สามารถมีสินค้าดีๆ ไอเดียโดนๆ ไม่แพ้คนญี่ปุ่นแน่นอนครับ