BIOTHAI ออกโรงค้านกรมวิชาการเกษตรฉวยโอกาสแก้กม.คุ้มครองพันธุ์พืช

BIOTHAI ออกโรงค้านกรมวิชาการเกษตรฉวยโอกาสแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 เอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ต่างชาติ เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชและลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ หวั่นทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

รายงานข่าวจากเครือข่าย BIOTHAI ระบุว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 ทั้งที่เป็นการผลักดันโดยตรงและผ่านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ยุโรป เป็นต้น แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรมวิชาการเกษตรได้พยายามผลักดันการแก้กฎหมายนี้อีกครั้งแต่ก็ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย จากนักวิชาการ เช่น รศ.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมทั้งนพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่รู้ทันเรื่องสิทธิบัตรของบรรษัทข้ามชาติ เรื่องนี้เงียบหายไปจนหลายฝ่ายวางใจว่าการผลักดันการแก้กฎหมายจะไม่เกิดขึ้นอีกในรัฐบาลนี้

แต่แล้วจู่ๆ โดยที่ไม่เคยมีการแถลงใดๆอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะจากพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่าจะมีแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เว็บไซท์ของกรมวิชาการเกษตร (http://www.doa.go.th/main/index.php…) ได้เผยแพร่เรื่องการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ. ….ฉบับใหม่ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทั้งฉบับ โดยเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ที่จะถึงนี้เท่านั้น แสดงเจตนาว่าเป็นการจงใจเลือกช่วงเวลาระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จ ปิดโอกาสประชาชนในการเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายซึ่งจะทำให้วิถีวัฒนธรรมการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อกลายเป็นความผิดทางอาญา และเปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาฉกฉวยทรัพยากรพันธุกรรมได้โดยสะดวก

 จากการสำรวจในเว็บไซท์ด้งกล่าว กรมวิชาการเกษตรระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการร่างกฎหมายเพื่อให้ให้เป็นไป “ตามแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(อนุสัญญา UPOV 1991)” และรองรับ “แนวโน้มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV1991” เป็นการฉวยโอกาส 2 ชั้น คือฉวยโอกาสไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้าน และฉวยโอกาสผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศทางอ้อมโดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาเกี่ยวกับการให้สัตยาบันในอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ในเนื้อหาของร่างกฎหมายของกรมวิชาการเกษตรที่เผยแพร่ในเว็บไซท์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเกษตรกร ขยายการผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ และเปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพ ดังนี้ 1)ตัดสิทธิของเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ โดยตัดเนื้อหาใน มาตรา 33 (4) ของกฎหมายฉบับเดิมออก ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่ออาจได้รับโทษถึงจำคุก

2) ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทออกไปตาม UPOV1991 โดยขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชออกไปจาก 12-17 ปี เป็น 20-25 ปีแล้วแต่กรณี (ยกเว้นพืชที่ให้เนื้อไม้)

3) ขยายการผูกขาดจากเดิมกำหนดอนุญาตให้เฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” ให้รวมไปถึง “ผลผลิต” และ “ผลิตภัณฑ์” ด้วย

4) ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่ หรือสายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties-EDVs)

5) เปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพ โดยตัดการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมออกเมื่อบริษัทประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ และแก้คำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยเพียงแต่บริษัทนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองที่ต้องการมา ”ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” เสียก่อนเท่านั้น

6) ตัดข้อกำหนดการต้องผ่านกระบวนการรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ออก

7) ตัดเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและการแทรกแซงของรัฐในกรณีที่มีการตั้งราคาเมล็ดพันธุ์แพงจนเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้

8) แก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเอง เป็นการแต่งตั้งทั้งหมด

โดยสรุปแล้ว กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดพันธุ์พืชอย่างเข้มข้น ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของทุกๆคนในประเทศนี้

เมื่อครั้งที่ทราบว่าจะมีการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ก่อนหน้านี้ ไบโอไทยได้ทำหนังสือคัดค้านและชี้แจงเหตุผลต่างๆ ต่อกรมวิชาการเกษตร นักวิชาการหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านแล้ว แต่ความเห็นดังกล่าวไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย ดังจะเห็นได้จากร่างกฎหมายของกรมวิชาการเกษตรที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ยังคงยืนยันร่างเดิมตามรูปแบบกฎหมายของUPOV1991

“การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นทางหน้าเว็บไซท์น่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเท่านั้น ดังนั้น มีแต่ช่วยกันเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันของเกษตรกรและสาธารณชน หยุดยั้งไม่ให้มีการรวบรัดเสนอกฎหมาย เพื่อที่ประชาชนจะมีเวลาและสามารถแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวคัดค้านได้อย่างกว้างขวางเท่านั้น จึงพอจะหยุดยั้งการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรและบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ได้”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์