ระบบบริหารฟาร์มกุ้งอัจฉริยะ หนึ่งผลงานเด่น มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม

มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 หรือ Thailand Research Expo 2016 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร นับเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจในการสร้างสรรค์การพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้ด้านงานวิจัย

นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวนับเป็นกิจกรรมสำคัญ ที่ วช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 11 ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม อันเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

จำลองรูปแบบให้ชม
จำลองรูปแบบให้ชม

การพัฒนาและศึกษาประโยชน์ของระบบบริหารจัดการฟาร์มกุ้งก้ามกรามและกุ้งขาวอัจฉริยะด้วยระบบเซ็นเซอร์แบบไร้สาย อันเป็นผลงานวิจัยของ นิฏฐิตา เชิดชู วีระศักดิ์ ชื่นตา และ ขนิษฐา แซ่ลิ้ม ในสังกัดหน่วยวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายและสมองกลฝังตัว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็น 1 ใน 600 ผลงาน ที่นำมาร่วมจัดแสดงในงานครั้งนี้

ชุดควบคุมระบบน้ำ
ชุดควบคุมระบบน้ำ

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาและศึกษาประโยชน์ของระบบบริหารจัดการฟาร์มกุ้งก้ามกรามอัจฉริยะด้วยระบบเซ็นเซอร์แบบไร้สาย คณะผู้วิจัยให้ข้อมูลว่า เพื่อออกแบบสร้างเครื่องวัดคุณภาพน้ำของบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งประกอบด้วย เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับออกซิเจนละลาย ค่าความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิ ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดจะแบ่งคุณภาพน้ำออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ปกติ เฝ้าระวัง และวิกฤต ซึ่งข้อมูลระดับคุณภาพจะถูกนำไปสั่งการทำงานของเครื่องตีน้ำ

พร้อมกันนี้ ทางคณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาระบบให้อาหารกุ้งแบบอัตโนมัติ โดยคำนวณและสั่งการที่สัมพันธ์กับช่วงเวลา และปริมาณการให้อาหารและระดับคุณภาพน้ำ

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมพร้อมให้ข้อมูล
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมพร้อมให้ข้อมูล

ข้อมูลจากการทำงานของระบบเซ็นเซอร์จะถูกผ่านระบบไร้สายไปยังเครื่องแม่ข่ายที่สถานีฐานในฟาร์ม เพื่อจัดทำเป็นรายงานและแจ้งเตือนผ่านระบบโทรศัพท์มือถือไปยังเจ้าของฟาร์ม

คณะผู้วิจัยได้นำระบบที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นไปติดตั้งเพื่อทดสอบหาประสิทธิภาพ ณ ฟาร์มดอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามผสมกุ้งขาว โดยทำการทดสอบ 2 รอบการเลี้ยง รอบการเลี้ยงละ 2 บ่อ แบ่งเป็นบ่อทดลองที่เลี้ยงด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นและบ่อควบคุมที่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบเดิม จำนวนอย่างละ 1 บ่อ

ผลการวิจัยพบว่า ระบบที่นำเสนอสามารถช่วยลดความเสียหายของการเลี้ยงที่เกิดจากปัญหาอันเนื่องมาจากคุณภาพน้ำที่มักจะส่งผลการเลี้ยงกุ้งไม่สามารถดำเนินการไปได้ครบรอบการเลี้ยงตามปกติ จากผลการทดลองพบว่า บ่อทดสอบที่ใช้ระบบที่นำเสนอในงานวิจัยนี้ สามารถยืดอายุการเลี้ยง จาก 74 วัน เป็น 89 วัน และยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรเมื่อเทียบกับการเลี้ยงแบบดั้งเดิม คิดเป็น 12.55 เปอร์เซ็นต์ และ 73.3 เปอร์เซ็นต์

จากผลงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาคุณภาพน้ำเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการเลี้ยงกุ้ง การมีระบบที่สามารถบริหารจัดการควบคุมคุณภาพน้ำแบบเวลาจริง เป็นสิ่งจำเป็นหากเกษตรกรต้องการเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต นอกจากข้อดีของระบบที่สามารถยืดจำนวนวันของรอบการเลี้ยงได้ เมื่อเทียบกับบ่อควบคุม ระบบที่นำเสนอยังสามารถช่วยลดต้นทุนในเรื่องของการตีน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาบริหารจัดการฟาร์มจะช่วยให้การดูแลคุณภาพการเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หากสนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายและสมองกลฝังตัว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เลขที่ 85 ถนนมาลัยแมน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โทร. (034) 109-300 ต่อ 3000