ห้ามนำเข้ากุ้งมาเลย์-อินเดีย กันโรค IMNV

กรมประมงออกประกาศผู้ส่งออกห้ามนำเข้ากุ้งที่เป็นวัตถุดิบจาก “มาเลเซีย-อินเดีย” หลังพบการแพร่ระบาดโรค IMNV หนัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ออกประกาศกรมประมง เรื่องงดการออกใบอนุญาต และหนังสืออนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 โดยสรุปเนื้อหาของประกาศดังกล่าวได้ว่า เนื่องจากมีรายงานการพบโรคไอเอ็มเอ็นวี (IMN-Infectious Myonecrosis Virus) ในอินเดีย และประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมีรายงานเพิ่มเติมจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ว่า กุ้งน้ำตาล (Penaeus esculentus), กุ้งแชบ๊วย (Fenneropenaeus merguiensis) และกุ้งชนิดอื่นๆ ได้แก่ กุ้งขาว (Penaeus vannamai), กุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) และกุ้งฟ้า (Penaeus stylirostris) เป็นสัตว์ที่ไวต่อการรับโรคไอเอ็มเอ็นที่อาจจะเป็นพาหะของโรคดังกล่าว

เพื่อป้องกันมิให้โรคดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทย กรมประมงจึงงดการออกใบอนุญาต และหนังสือให้นำเข้ากุ้งแชบ๊วย, กุ้งน้ำตาล, กุ้งขาว, กุ้งกุลาดำ และกุ้งฟ้าที่มีชีวิต ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในลักษณะของกุ้งดิบแช่เย็น แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกุ้งดังกล่าว ที่มีถิ่นกำเนิดและมาจากประเทศอินเดีย และประเทศมาเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ในประกาศจึงได้ระบุว่า ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับกรณีผู้ประกอบการที่มีหนังสือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อนำเข้ากุ้ง ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในลักษณะของกุ้งดิบแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกุ้งดังกล่าวไว้ก่อนประกาศฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ และได้แจ้งไว้ต่อกรมประมงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยการนำเข้าดังกล่าง ต้องผ่านกระบวนการกักกัน และตรวจสอบโรคตามหลักเกณฑ์ของกรมประมง

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่กรมประมงออกประกาศให้โรงเพาะฟักลูกกุ้งกุลาดำที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์หรือจับจากธรรมชาติ ต้องมีการกักกันต่างหาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงออกตรวจสอบโรค IMNV เพื่อป้องกันการระบาดในไทยตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมานั้น โรงเพาะฟักไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ปัจจุบันผลผลิตกุ้งกุลาดำตกประมาณปีละ 10,000-20,000 ตัน ต้องใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้ง 1,000-2,000 ตัน ตามมาตรฐานของ OIE กำหนดให้ตรวจสอบ 25-50% ของปริมาณที่นำเข้า แต่เกษตรกรโรงเพาะฟักขอให้กรมประมงตรวจ ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จะได้ไม่มีโรค IMNV นี้เล็ดลอดเข้ามา
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สำหรับการประกาศห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศมาเลเซียและอินเดียนั้น จากการป้องกันปัญหาโรคระบาด IMNV ทางผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกมองว่า ไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีการนำเข้ากุ้งจาก 2 ประเทศนี้เพียง 10,000-20,000 ตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณที่น้อยมาก โดยหลักแล้วผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ใช้กุ้งภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การห้ามประกาศดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบ
อย่างไรก็ดี สำหรับผลผลิตกุ้งภายในประเทศยังมั่นใจว่าผลผลิตทั้งปี 2560 ยังอยู่ที่ปริมาณ 300,000 ตัน ส่วนภาพการส่งออกทั้งปี 2560 ยังมองว่าขยายตัวเป็นบวก และสถานการณ์การนำเข้ากุ้งจากประเทศผู้นำเข้า ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะปกติ และยังมีคำสั่งซื้อเข้ามา เพราะผู้นำเข้ามั่นใจผลผลิตกุ้งจากไทย ทั้งนี้ สำหรับปัญหาเรื่องโรคยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และหาวิธีป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เข้ามาแพร่เชื้อ และเกิดโรคระบาดกับกุ้งภายในประเทศ
แหล่งข่าวจากวงการส่งออกกุ้ง กล่าวว่า ช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค IMNV ในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงปี 2552, 2553 ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งภายในประเทศอินโดนีเซีย หายไปถึงแสนกว่าตัน ถือว่าค่อนข้างร้ายแรงและทำความเสียหายต่อผลผลิตกุ้งอย่างมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องหาทางป้องกันโรคกันอย่างเต็มที่ แต่โรคนี้หากเทียบกับโรคกุ้งตายด่วน (EMS) อาจจะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า
รายงานข่าวจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2560 ประเทศไทยมีการนำเข้ากุ้งสดพิกัด (0306) เพิ่มขึ้นมากถึงประมาณ 17,000 ตัน ที่สำคัญเป็นการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค และเมียนมา ขณะที่ปี 2558 มีปริมาณกุ้งนำเข้าทั้งปีเพียง 11,812.52 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,089.15 ล้านบาท ปี 2559 มีปริมาณกุ้งนำเข้าทั้งปีเพียง 12,727.29 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,393.03 ล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ