เอกชนชงร่างกม.ไม้เศรษฐกิจ เปิดทางแปรรูปแยกป่าอนุรักษ์จากป่าศก.

เอกชนเสนอรัฐปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 เพื่อลดข้อจำกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ พร้อมเสนอกฎหมายใหม่เพิ่ม แยกป่าอนุรักษ์ออกจากป่าเศรษฐกิจ เชื่อจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับป่าไม้เศรษฐกิจเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวจากเครือข่ายสมาคมอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 นี้ จะมีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร” โดยสมาคมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจจะมีการนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ 1) แก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้เกิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจมากกว่าการควบคุม และ 2) เสนอให้มีการทำกฎหมายใหม่อีก 1 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นไปที่หลักการแยกป่าอนุรักษ์ออกจากป่าเศรษฐกิจ แล้วปรับกฎหมายป่าไม้ต่างๆ ที่มีอยู่เดิมเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายใหม่ดังกล่าว เมื่อพิจารณารายละเอียดของ พ.ร.บ.ป่าไม้ที่ใช้ในปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ของประเทศ ในหลายประเด็น ตั้งแต่การกำหนดนิยามของคำว่าป่ามีความหมายที่กว้างเกินไป และควรจำกัดเฉพาะป่าในที่ดินของรัฐเท่านั้น
นอกจากนี้ ในส่วนที่กำหนดให้ต้นไม้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งเมื่ออยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ไม่ควรจำกัดสิทธิใดๆ ในการปลูก เก็บ เกี่ยว แปรรูปหรือส่งออก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับไม้ รวมถึงการใช้ประโยชน์ไม้ที่เติบโตได้ดีในประเทศนั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ถือเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย รวมถึงในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบในการนำมาแปรรูปได้ควรให้สิทธิตั้งโรงงานแปรรูป เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบ ถ้าต้องนำไปแปรรูปในพื้นที่อื่น ส่วนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะขาดแรงจูงใจในการนำไปแปรรูปและจำหน่าย และยังมีอุปสรรคจากการที่ พ.ร.บ.กำหนดให้เครื่องจักรในอุตสาหกรรมไม้ ทำงานได้เพียง 12 ชั่วโมง/วัน เท่านั้น ส่งผลต่อต้นทุนผลิตต่อหน่วยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันลดลง รวมถึงระยะเวลาการคืนทุนของผู้ประกอบการยืดยาวออกไปกว่า 1 เท่า ทำให้ธุรกิจไม่น่าลงทุน และส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจอีกด้วย
“มีการนำเสนอเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กลับไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ จากภาครัฐ ปัจจุบันเมื่อมาดูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไม้มีมูลค่าถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งหากส่งเสริมลดข้ออุปสรรคข้างต้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทได้ ประมาณการคร่าวๆ สำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อ 200,000 ล้านบาท และพลังงานรวม 100,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าขับเคลื่อนอย่างถูกทางอุตสาหกรรมไม้จะขยายตัวได้อย่างมาก”
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีเพียง พ.ร.บ.ป่าไม้ที่จะต้องแก้ไขเท่านั้น ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกคือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เพื่อให้เอกชนสามารถขออนุญาตปลุกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ พร้อมทั้งควรทบทวนการขออนุญาตใช้พื้นที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพียงแต่แจ้งเพื่อรับทราบเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปไม้ ควรแก้ไขหรือยกเลิกพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 ในประเด็นการแปรรูปไม้ โดยเลื่อยโซ่ยนต์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหากมีการเคลื่อนย้ายไปใช้นอกพื้นที่ไม่ควรต้องขออนุญาตอีก รวมถึงโรงงานทำชิ้นไม้สับเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวมวล ไม่ควรจัดอยู่ในประเภทโรงงานแปรรูปไม้ที่ต้องขออนุญาต นอกจากนี้ควรยกเลิกการกำหนดให้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตสามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่กำหนดให้เดินเครื่องเพียง 12 ชั่วโมง เท่านั้น ซึ่งการกำหนดดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าประเทศอื่นๆ และทำให้การคืนทุนของผู้ประกอบการยืดยาวออกไปอีก 1 เท่าอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างดังกล่าวนี้ จะมีการหารือกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นใน สาระสำคัญและประเด็นย่อยรวม 5 ประเด็น ตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการปลูกไม้เศรษฐกิจ การทำไม้ การตัดไม้และการจำหน่าย การแปรรูป รวมถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการจัดการไม้เศรษฐกิจ

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ