‘บ้านห้วยมงคล-เขาเต่า’ ระลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 พระราชทาน ‘ถนน-แหล่งน้ำ’ แห่งแรก

การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับพสกนิกรชาวไทย และชาวประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่พระราชกรณียกิจนานัปการตลอดรัชสมัยของพระองค์ สะท้อนพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตา พระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตลอดมา

ชาวประจวบคีรีขันธ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการในพระราชดำริต่างๆ เป็นอันมาก โดยโครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาชนบท “ถนนสายห้วยมงคล” และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านชลประทาน “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” เป็นโครงการแรกๆ ของประเทศ ในคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน

สำหรับ “ถนนสายห้วยมงคล” อยู่ในพื้นที่ “บ้านห้วยมงคล” ในอดีต คือหมู่บ้านห้วยคต หมู่ที่ 8 ตำบลหินเหล็กไฟ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหัวหินประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางเข้าเมืองหัวหินในสมัยนั้นใช้เวลา 2 วัน 2 คืน เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเท้าและทางเกวียน จึงเป็นความยากลำบากของประชาชนในการนำผลผลิตพืชไร่ไปขายที่ตลาดหัวหิน

กระทั่งปี พ.ศ. 2495 เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านห้วยมงคลยังคงจดจำ และเล่าขานสืบทอดอย่างมิรู้ลืมว่าปีนั้นเหมือนฟ้ามาโปรด เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยพาหนะรถจี๊ป และรถราชพาหนะ มาติดหล่มดินบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล ซึ่งชาวบ้าน นำโดย นายรวย งามขำ มีโอกาสช่วยเข็นรถให้พ้นจากหล่ม โดยไม่ทราบว่าผู้ที่เดินทางมากับขบวนรถเป็นบุคคลใด ทราบเพียงว่ามีทั้งทหารและตำรวจหลายนาย

ครั้นทราบในภายหลังว่าบุคคลที่ลงจากรถราชพาหนะคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ด้วยความตื่นเต้นและปลาบปลื้มที่ได้พบพระเจ้าอยู่หัวโดยใกล้ชิดจนเกือบลืมย่อกายนั่งลงพนมมือ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสขอบใจชาวบ้านที่มาช่วยเข็นรถ พร้อมตรัสถามความเป็นอยู่ด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้ม เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ทั้งยังตรัสถามปัญหาของหมู่บ้านห้วยมงคล นายรวยจึงกราบบังคมทูลว่า “อยากได้ถนนมากที่สุด” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยักพระพักตร์รับ พร้อมทรงพระราชทานธนบัตรให้นายรวยเป็นจำนวนเงิน 36 บาท และตรัสว่า “เก็บไว้เป็นเงินก้นถุงเป็นที่ระลึกนะ” ปัจจุบันเงินพระราชทานดังกล่าวนายรวยได้ห่อในผ้าขาว เก็บรักษาไว้ในหีบวางบนแท่นบูชาจนถึงปัจจุบัน

อีกเพียง 2-3 วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร สร้างถนนไปหมู่บ้านห้วยมงคล ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ราษฎรสามารถสัญจร นำผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำหน่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้เดินทางไปอำเภอหัวหินใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิการชาวบ้านห้วยมงคล “ห้วยมงคลถนนของพ่อ” สายนี้พลิกวิถีชีวิตชาวบ้านจากความทุกข์เข็ญให้มีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ขึ้น

ดาบตำรวจละออ จงศรี อายุ 68 ปี อดีตตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน เล่าความประทับใจว่า เข้ารับราชการเป็นครั้งแรกที่ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร มีโอกาสเข้าเฝ้ารับใช้ถวายรายงานอย่างใกล้ชิด โดยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดให้ทำหน้าที่ขับรถไถยี่ห้อแคทเตอร์ พิลล่า รุ่นดี 4 มาใช้งานก่อสร้างถนนสายห้วยมงคลระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ปัจจุบันรถไถคันนี้ถูกเก็บไว้ในค่ายนเรศวร

ส่วน “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน ห่างตัวเมืองไปทางทิศใต้ 14 กิโลเมตร ในอดีตเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำจืดอุปโภคบริโภค โดยครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งติดหล่มบริเวณใกล้วัดเขาเต่า พระองค์ทรงสอบถามชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถ และทรงทราบว่าชาวบ้านขาดแคลนน้ำจืดอย่างแสนสาหัส

ต่อมา พระองค์มีพระราชดำริให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า แต่การดำเนินการมีอุปสรรคบางประการ กระทั่งปี พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 60,000 บาท สมทบกับงบประมาณของทางราชการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า และในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเจิมเสาหลักทำนบอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เป็นปฐมฤกษ์แห่งการก่อสร้าง และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2506

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า การก่อสร้างเขื่อนดินสูง 5 เมตร ยาว 600 เมตร ช่วยปิดกั้นน้ำจืดไว้ ขณะเดียวกันมีการสร้างเขื่อนกันน้ำด้านลำคลองหน้าโรงเจข้างเขาเต่า ช่วยปิดน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้ามา มีพื้นที่กักเก็บน้ำจืดประมาณ 300 ไร่ สามารถเก็บน้ำได้ 6 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากราษฎรได้ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ ยังสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชดำริเรื่องน้ำคือชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ อีกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์จากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล พร้อมคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง โดยพระองค์ทรงสูทสีน้ำตาล สะพายกล้องถ่ายรูป โดยพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินยังอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เพื่อทรงทอดพระเนตรแข่งเรือยาวประเพณีอ่างเก็บน้ำเขาเต่า พระองค์ทรงถ่ายภาพการแข่งขันตลอดเวลาและทรงแย้มพระสรวล

หลังจบการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันให้ทีมเรือที่เข้าร่วมแข่งขัน สร้างความปลาบปลื้ม และถือเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงของผู้เข้าร่วมแข่งขัน จากนั้นพระองค์เสด็จยังท่าน้ำที่เรือยาวทั้งหมดจอดอยู่ ทรงทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ท่ามกลางประชาชนเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้องต่อเนื่อง พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดสร้างศาลากลางอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวทรงจตุรมุขจำลองแบบจากพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ภายในถ้ำพระยานคร ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หล่อด้วยโลหะสำริดนอก ขนาด 1.5 เท่าพระองค์จริง พระอิริยาบถทรงงาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์และอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริด้านแหล่งน้ำแห่งแรกในประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก สุรยุทธ ยงชัยยุทธ