เผยแพร่ |
---|
จากแนวพระราชดำริและพระราชดำรัสมากมายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้พสกนิกรในโอกาสต่างๆ ทำให้พสกนิกรได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อก่อให้เกิดความสุขของคนในครอบครัว และชุมชน
สำหรับ “วาหลิต เชื้อพระซอง” ชาวบ้านโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม รับเป็นเกษตรกรอีกรายที่น้อมนำมาใช้ปฏิบัติ ในรูปแบบของ “โรงเรียนสอนคนและฝึกควายไถนา” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยร่วมกับชุมชน หลังจากเล็งเห็นว่าวิถีชีวิตความพอเพียงที่เรียบง่ายของการทำนา คือ คนคู่กับควาย อีกทั้งมีเป้าหมายต้องการปลูกฝังให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้สิ่งดีๆ มีค่าเหล่านี้
“ได้ขอการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ นำควายจากโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ มาสร้างเป็นต้นแบบให้ทุกคนได้เห็น เรียนรู้ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านคอยให้คำปรึกษา และถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกควายให้เชื่อง แสนรู้ วิธีการเลี้ยง ดูแล รวมถึงเทคนิคในการเพาะปลูกพืชเกษตร การเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ควบคู่กันไป จากนั้นไปติดต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ ในชุมชนรวมถึง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อนำลูกหลานเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของความพอเพียงในโรงเรียนแห่งนี้ ขณะที่ปศุสัตว์เองได้นำผู้ที่จะได้รับควายจากโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ มาเรียนรู้ที่โรงเรียนแห่งนี้เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นพื้นฐานให้ทุกคนนำไปปรับใช้ต่อไป
สำหรับควายที่จะนำมาฝึกในโรงเรียนนั้น เริ่มตั้งแต่อายุ 8 เดือน ขึ้นไป ขณะที่การฝึก จะฝึกควบคู่กันไปทั้งคนและควาย โดยควายจะฝึกให้รู้ภาษาบังคับ เช่น คำสั่งเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และหยุดเดิน ส่วนคนต้องเรียนรู้การบังคับควายด้วยเชือก การออกคำสั่ง ซึ่งระยะเวลาในการฝึกควายไถนาจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 วัน แต่หากจะฝึกให้เป็นควายแสนรู้ สามารถหมอบ คลานหรือปฏิบัติตามคำสั่งอื่นๆได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 5 วัน”
“วาหลิต” บอกว่า หลังเปิดโรงเรียนมาถึงปัจจุบัน ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะผู้ผ่านการอบรม สามารถนำความรู้ เทคนิคที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ โรงเรียนมีกิจกรรมต่อยอดให้เด็กๆ นักเรียน เช่น การทำอาหารกลางวันจากผักที่ปลูกเอง และไก่ ปลาของตนเอง ทำให้ทุกคนมีรอยยิ้ม มีความสุข สำหรับผู้สนใจอยากมาศึกษาเรียนรู้ที่โรงเรียนสอนคนและฝึกควายไถนา สามารถติดต่อได้ที่ โทร. (087) 019-3490
ขอบคุณข้อมูลจาก บัณฑิต แสงวิจิตร