เผยแพร่ |
---|
กรมโรงงานอุตฯกางตัวเลขยื่นขอใบ ร.ง.4 ในเขตอีอีซี ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ลดลง 11.33% เงินทุนหาย 55% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์/ยานยนต์/แปรรูปอาหาร แชมป์เปิดกิจการใหม่ รัฐมนตรีอุตฯ มั่นใจโค้งสุดท้ายหลังออก พ.ร.บ.อีอีซี ช่วยกระตุ้นต่างชาติแห่ลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจญี่ปุ่น
แหล่งข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วง 9 เดือน ของปี 2560 พบว่า จำนวนโรงงานลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าลงทุนลดลงค่อนข้างมาก โดยจำนวนโรงงานอยู่ที่ 133 โรงงาน ลดลง 11.33% จากช่วงเดียวกัน
ปี 2559 อยู่ที่ 150 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2.15 หมื่นล้านบาท ลดลง 54.44% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 4.72 หมื่นล้านบาท และการจ้างงานรวม 6.79 พันคน ลดลง 44.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.23 หมื่นคน ทั้งนี้ การลงทุนแบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่ 99 โรงงาน ลดลง 13.91 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 115 โรงงาน มูลค่าลงทุน 1.04 หมื่นล้านบาท ลดลง 73 % จากปีก่อนอยู่ที่ 3.87 หมื่นล้านบาท ส่วนการขยายกิจการ 34 โรงงาน ลดลง 2.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 35 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.58% เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 9.28 พันล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ 6.25 พันล้านบาท อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 4.8 พันล้านบาท ตามลำดับ
แหล่งข่าวกล่าวว่า พื้นที่อีอีซี จังหวัดชลบุรีมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 75 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 1.02 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 4.4 พันคน จังหวัดระยอง จำนวน 31 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 6.52 พันล้านบาท มีการจ้างงาน 908 คน และ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 4.81 พันล้านบาท มีการจ้างงาน 1.48 พันคน
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตัวเลขโรงงานและมูลค่าการลงทุนใน 3 จังหวัดอีอีซี ช่วง 9 เดือน ที่ลดลง อยากให้ดูทั้งปีมากกว่า เพราะขณะนี้การขับเคลื่อนอีอีซีเดินหน้าไปมากแล้ว และสำรวจอยู่ มั่นใจว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 การลงทุนจะคึกคัก โดยเฉพาะโครงการหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ที่มีความคืบหน้า เพราะเตรียมออกร่างหลักเกณฑ์ประกวดราคา (ทีโออาร์) ตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (พีพีพี) ได้ก่อนสิ้นปีนี้เร็วขึ้น
“พ.ร.บ.อีอีซีมีส่วนสำคัญทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ ถือเป็นคำมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของส่วนราชการทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการลงทุน มีการสร้างเมืองใหม่ คาดว่าเร็วๆ นี้น่ามีการประกาศใช้ รวมทั้งที่ผ่านมานักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 คน เข้ามาศึกษาพื้นที่และบางส่วนมีการตอบรับจะเข้ามาลงทุนแล้ว” นายสมชาย กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน