‘ปูเจ้าพ่อหลวง’ ‘ปูน้ำจืด’ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9

“ปูเจ้าพ่อหลวง” เป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งค้นพบโดย ศ. ไพบูลย์ นัยเนตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2519 ที่ลำธารบนภูหลวง จังหวัดเลย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนามปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ศ. ไพบูลย์ นัยเนตร ผู้ค้นพบปูเจ้าพ่อหลวง เปิดเผยว่า “ปูเจ้าพ่อหลวง” มีชื่อสามัญว่า Giant Mountain Crab มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Potamon bhumibol ชาวบ้านเรียกว่า ปูหิน มีลักษณะเด่นคือ มี 3 สี ได้แก่ สีน้ำตาลเข้ม สีม่วง และสีส้ม โดยกระดองจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขาเดิน 4 คู่ และขาก้ามทั้งสองข้างเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยกเว้นด้านในของก้ามหนีบอันล่างเป็นสีม่วง และปลายก้ามหนีบทั้งสองข้างเป็นสีส้ม จัดเป็นปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปูเจ้าพ่อหลวงอาศัยอยู่ตามลำธารที่ค่อนข้างสะอาดในป่า ตามใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ตามรากไม้ ลำธารสาขาของแม่น้ำเลยในเขตป่าภูหลวง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของปูชนิดนี้ การค้นพบ “ปูเจ้าพ่อหลวง” และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนามปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิตที่ได้ทำงานถวายพระองค์ท่าน นอกจากนี้การค้นพบปูชนิดนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน