ตั้งกองทุน-รวมกลุ่มเลี้ยง รับมือสหรัฐดัมพ์ตลาดหมูไทย

จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกากันไปเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเจรจาการค้า การลงทุนกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 2-4 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมนำโดยสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องการแก้ไขการขาดดุลการค้ากับ 16 ประเทศ 1 ในนั้นมีประเทศไทยด้วย ซึ่งการเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงหมูไทยกังวลว่า สหรัฐจะบีบไทยให้เปิดตลาดเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมู ตามที่สภาผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐกดดันให้ไทยเปิดตลาดมาตลอดในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูไทยก็ต่อต้านมาตลอด โดยอ้างว่า หมูสหรัฐใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง ผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2545 ของกระทรวงสาธารณสุข และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งแก่ผู้บริโภคชาวไทยได้

การต่อต้านการนำเข้าหมูจากสหรัฐเริ่มยกระดับความเข้มข้นขึ้น เมื่อสหรัฐผลักดันให้คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) เปิดประชุมครั้งที่ 35 ในปี 2555 เป็นครั้งแรกที่ CODEX มีการใช้วิธีลงคะแนนเสียง ทั้งๆ ที่ผ่านมา CODEX ใช้หลักฉันทามติคือให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่มีผู้คัดค้าน โดยการลงคะแนนเสียงรอบแรกคะแนนเสียงเท่ากัน จึงต้องมีการลงคะแนนเสียงในครั้งที่สอง ปรากฏว่าฝ่ายสนับสนุนให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนน 67 ต่อ 65 ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่กังขา และหลังการลงคะแนนผ่านมา 5 ปี ยังมีประเทศภาคีสมาชิกมากเกินกว่า 100 ประเทศ ที่ไม่มีการแก้ไขกฎหมายในประเทศตนเอง รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยังคงกำหนดปริมาณสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในหมูต้องเป็นศูนย์

หลังจากนั้น สหรัฐก็เดินเกมบีบให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าหมูจากสหรัฐอีกครั้ง โดยสหรัฐอ้างว่า ใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงหมูตามมาตรฐานความปลอดภัยของ CODEX ทำให้สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำโดย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมนำผู้เลี้ยงหมูเดินทางไปประท้วงการนำเข้าที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

แม้การเดินทางไปเจรจาการค้า การลงทุนครั้งนี้จะไม่มีการหารือถึงรายละเอียดในการเปิดตลาดหมูให้กับสหรัฐ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจาหารือรายละเอียดกันอีกครั้ง ทำให้ผู้เลี้ยงหมูไทยกังวลไม่น้อย กับปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

โดย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ห่วงโซ่การเกษตรด้านปศุสัตว์เป็นห่วงโซ่อุปทานระหว่างเกษตรพืชไร่ด้านอาหารสัตว์ ซึ่งมีประชากรของประเทศเกี่ยวข้องมหาศาล ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีไม่สูงเท่าภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก แต่มีประชากรที่จะต้องได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน นอกเหนือจากความเสียหายนับล้านล้านบาทต่อปีที่ประเทศจะเกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวม

ขณะที่ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนหรือมีความคืบหน้าอย่างไรเกี่ยวกับการนำเข้าหมูจากสหรัฐในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสหรัฐและพบปะประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ดังนั้น หลังจากนายกรัฐมนตรีและทีมเจรจาเดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว อยากให้รัฐบาลแถลงข่าวการเจรจาเป็นอย่างไร ซึ่งกระแสข่าวมาถึงกลุ่มผู้เลี้ยงหมูนั้น มาหลายทิศทาง ไม่ชัดเจน จนเกิดความวิตกต่างๆ

แน่นอนว่า กลุ่มผู้เลี้ยงหมูไทย ต้องตั้งทีมทนายความไว้ต่อสู้ทางด้านกฎหมายและตั้งทีมที่จะประสานกับภาครัฐคอยเยียวยากลุ่มผู้เลี้ยงหมูนับแสนครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยต้องเตรียมตัวรับมือหากหนีไม่พ้นในการนำเข้าหมูจากสหรัฐ นั่นคือ ต้องเปิดประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) วางมาตรการรับมือในเรื่องนี้ ว่าจะมีการตั้งกองทุนให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูมากู้ยืมสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาวอย่างไร เพื่อลดผลกระทบรวมทั้งการปรับเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากผู้เลี้ยงหมูของไทยที่ผลิตป้อนตลาดวันละ 4.5 หมื่นตัว เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยถึง 75% และผู้เลี้ยงรายใหญ่ 25%

เพราะการเปิดให้นำเข้าหมูจากสหรัฐในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เป็นบทเรียนที่น่าศึกษาเพื่อนำมาป้องกันความเสียหายให้มากที่สุด โดยราคาหมูเป็นเวียดนามตกต่ำหนักในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมาเหลือแค่กิโลกรัมละ 25-30 บาท หลังจากผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุนล้มหายตายจากไปมาก ราคาก็ยังขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 40 บาทเท่านั้น ซึ่งยังไม่คุ้มต้นทุนการผลิต จึงมีแนวโน้มในการเลิกเลี้ยงอีกมาก เมื่อหันมามองต้นทุนการผลิตของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยของไทยที่กิโลกรัมละ 58 บาท และขายหมูเป็นได้เท่าต้นทุนในขณะนี้ จึงชัดเจนอยู่แล้วที่จะต้องหาทางเยียวยา

อีกด้านหนึ่ง รัฐควรสนับสนุนชาวไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ให้เข้ามาถือหุ้นในสหกรณ์ที่เลี้ยงหมูครบวงจร การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเก็บสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้คนไทยเหล่านี้ได้มีอาชีพ มีงานทำ มีเงินปันผลจากสหกรณ์รายปี มาช่วยลดผลกระทบจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ตกต่ำด้วย เพราะสถานการณ์ประเทศไทยโดยรวมในขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องมากอบกู้ราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้นกว่านี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560