เผยแพร่ |
---|
ผลจากการดำเนินนโยบายอเมริกันมาก่อน หรือ America First ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างเงินสร้างงานของคนอเมริกัน ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ในการหารือระดับผู้นำ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะกดดันให้ไทย “เปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกร” จากสหรัฐ ซึ่งอนุญาตให้สามารถใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยสหรัฐอาจอาศัยข้ออ้างว่าใช้ตามมาตรฐานอาหารโลก (CODEX) กำหนดในปริมาณที่เหมาะสม ประเด็นนี้สหรัฐได้พยายามเรียกร้องจากไทยมาเป็นเวลานานหลายปีตามที่ปรากฏในการออกรายงาน National Trade Estimate (NTE) ประจำปีทุกๆ ปีรวมถึงปีนี้
และประเด็นนี้เคยมีกรณีพิพาทในองค์การการค้าโลก (WTO) ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรปและจีน ทำให้บางส่วนเกรงว่าสหรัฐอาจจะกดดันไทยเปิดตลาด โดยเอาเหตุผลนี้มาอ้าง แต่ “ใคร” จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดตลาดหรือไม่เปิด
กระทรวงพาณิชย์ชี้ว่าประเด็นที่มีความอ่อนไหวต้องมอง 3 มิติ คือ หากเปิดเสรีอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยง-ผู้จำหน่ายปศุสัตว์ในประเทศ หากเปิดเสรีจริงอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงทำให้แข่งขันไม่ได้ ซึ่งผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มากที่สุดคือหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับผู้เลี้ยงโดยตรง หมายถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มิติที่ 2 ข้อสรุปว่าการเปิดเสรีเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงตามปริมาณที่ CODEX กำหนดจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ ต้องเป็นบทบาทของหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องวางท่าทีเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะไทยสามารถไม่เปิดเสรีให้สินค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคภายในประเทศ และมิติที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าประเด็นนี้จะออกมาอย่างไร ไทยและสหรัฐควรต้องหารือเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังคณะเจรจาฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ของไทย ทั้งในส่วนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการระหว่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และทีมงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่างให้คำยืนยันว่าการหารือระดับรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการหารือในภาพรวมของการค้าการลงทุนทั้งหมด ไม่ได้มีการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ ตามที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสุกรในการหารือครั้งนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการหารือประเด็นนี้อีกเลย
ไทยต้องหาคำตอบให้ตัวเองว่า หากเปิดเสรีนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐแล้ว “ใคร” ได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร ถ้าไทยไม่เปิดเสรีแล้วให้ประชาชนบริโภคเนื้อสุกรในประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะส่งผลดีต่อสุขภาพจริง ? เหตุใดมาตรฐานของไทยกับมาตรฐาน CODEX ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ? ที่ไทยเชื่อมั่นว่ามาตรฐานไทยดีกว่า CODEX เพราะมองว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลังการกำหนดมาตรฐาน CODEX เป็นเรื่องจริง หรือไทยกำลังหลอกตัวเองอยู่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของใคร
หรือถ้าเปิดเสรีให้สินค้าสหรัฐ เข้ามาแข่งขัน แต่กำหนดเงื่อนไขการนำเข้า เช่น ให้ติดฉลากเป็นภาษาไทย ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ราคาสินค้าถูกลง แล้วผู้บริโภคไทยพร้อมที่จะ “อ่าน” ฉลากเวลาซื้อสินค้า และพร้อมที่จะตัดสินใจเลือกจริงหรือ ? และแท้จริงแล้วการ “ปิดประตู-ปิดหน้าต่าง” ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแข่งขัน เป็นวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือแค่ซื้อเวลา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560