เผยแพร่ |
---|
ม.หอการค้าไทยสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ยอดหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเฉียด 3 แสน/คน สูงสุดรอบ 10 ปี ชี้เหตุคนหันซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น และรายได้ลดลง แต่มีสัญญาณดีหนี้นอกระบบลดต่ำสุดรอบ 10 ปี
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. – 10 ต.ค. 2560 พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14.3% และ มีคนเป็นหนี้ 91.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 85.7% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%
“สาเหตุที่ยอดหนี้เพิ่มขึ้น เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้จากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย”
โดยวัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรก 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ 11.9% ชำระหนี้เก่า 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา โดยสัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่
สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 15,438 บาท ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาท ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาท ต่อเดือน ลดลง 46.33% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง
นางเสาวณีย์กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มตัวอย่าง 87.2% ไม่ได้รับสิทธิ อีก 12.8% ได้รับสิทธิ แบ่งเป็น 55% มีเงินในบัตร 300 บาท และ 45% มีเงิน 200 บาท ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า บัตรลดค่าใช้จ่ายได้น้อย 72.5% ระบุว่า ไม่ส่งผลต่อการลดปัญหาความยากจน มีถึง 29.5% ระบุคุณภาพชีวิตดีขึ้น พบปัญหาการใช้บัตร ร้านค้าที่เข้าร่วมมีสินค้าไม่ครอบคลุม ร้านค้ามีน้อย การรูดบัตรยังไม่เสถียรภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560