ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะ กษัตริย์นักพัฒนา ที่มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ เป็นที่รับรู้ และตระหนักชัดในเวทีระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากการที่องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรภายใต้สังกัดของ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลให้กับพระองค์มากมายตลอดรัชสมัย
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐที่ยูเอ็นให้ความสำคัญ และให้การรับรองพระปรีชาสามารถว่าทรงทุ่มเทพระองค์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ตลอดเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการจัดตั้งยูเอ็นขึ้นในปี พ.ศ.2488 หนึ่งปีก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์ ตลอดรัชสมัย ยูเอ็นพัฒนาไป 70 ปี ทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงเป็นดั่งบุคคลอ้างอิงของยูเอ็นในเรื่องการพัฒนาอยู่เป็นระยะตลอดมา มีการยอมรับและให้การรับรองในรูปแบบต่างๆ อาทิ การกล่าวสดุดีพระองค์ การกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก และการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ มากถึง 13 รางวัล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยูเอ็นทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลให้มากที่สุด เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่ทรงครองราชย์เป็นเวลานาน แต่ตลอดรัชสมัยพระองค์ได้ทรงงาน และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งการพัฒนาทางเลือกของยูเอ็น (Alternative Development) ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นแนวทางปฏิบัติสากลในฐานะทางเลือกของการพัฒนาก็มีที่มาจากโครงการปลูกพืชทดแทนทางภาคเหนือของไทยซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ไม่มีกษัตริย์องค์ไหนในโลกที่ยูเอ็นนำมาอ้างอิงและนำโครงการตามแนวพระราชดำริไปใช้เช่นนี้
ท่านทูตวีรชัยยังกล่าวอีกว่า พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนามานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อเสด็จเยือนยูเอ็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2503 ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในภาคเหนือ และในการเสด็จเยือนสหรัฐยูเอ็นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2510 โครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ มีการพัฒนาไปมากแล้ว
ในขณะนั้นโลกยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามเย็น ประเด็นด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ แต่พระองค์ก็ทรงมุ่งไปในเรื่องการพัฒนาตั้งแต่เวลานั้น
ในช่วง 2-3 ปีหลัง ไทยได้เผยแพร่แนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นปรัชญาที่ท่านทูตวีรชัยบอกว่าแม้แต่คนไทยบางคนยังไม่เข้าใจ
ก่อนหน้านี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งหมดได้มาช่วยกันรวบรวมจากพระราชดำรัส แนวปฏิบัติทั้งจากภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ทำให้ตระหนักว่าเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่เพียงภาคการเกษตรเท่านั้น และยังสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตประจำวันของทุกคน จึงนำเอาสิ่งที่รวบรวมเป็นรูปร่างนี้มาเผยแพร่ในยูเอ็นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นระบบ
เชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) พ.ศ.2573 ว่าเป็นแนวทางหนึ่ง จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีทุนทรัพย์น้อย และไทยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สิ่งต่างๆ พระองค์ทรงคิดค้น โครงการตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาเศรษกิจพอเพียง ถือว่ามีส่วนช่วยประเทศไทยอย่างยิ่ง ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี มีชื่อเสียง และมีเรื่องที่ผู้คนจะพูดถึงไทยในทางที่ดี ภาพของไทยจะอยู่ในจอเรดาร์แบบที่เราไม่ใช่ผู้ตาม แต่เป็นประเทศที่มีบทบาทนำ เป็นเพราะพระองค์ท่าน
ท่านทูตวีรชัยกล่าว และว่า บางทีประเด็นเหล่านี้คนไทยในประเทศอาจไม่เห็นเด่นชัดเท่าใดนัก แต่การที่ที่ประชุมสมัชชายูเอ็นได้จัดให้มีการสดุดีและถวายพระเกียรติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 เป็นการจัดอย่างยิ่งใหญ่ จริงจัง และมีความหมาย ก็สะท้อนให้เห็นถึงความยอมรับในพระองค์ท่านเช่นกัน เราทุกคนโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่ยอมรับในฐานะที่ทรงงาน และเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
“สิ่งที่พระองค์ได้ทำตลอดรัชสมัยเป็นที่ยอมรับและเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืม เราคนไทยต้องรักษาและสานต่อมรดกนี้ ไม่ว่าจะในยูเอ็นหรือในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้มรดกที่พระองค์ประทานให้กับมนุษยชาติเป็นที่รู้จักและพัฒนาต่อไป” ท่านทูตวีรชัยกล่าวทิ้งท้าย