“เกษตรฯ-สธ.”เผยผลตรวจผักสวนครัวผลไม้ประเภท “ผักชี-ผักชีฝรั่ง-มังคุด-องุ่น”พบสารตกค้างอื้อ

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกันเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรและอาหารนั้น กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากแหล่งผลิตพืชทั่วประเทศ ทั้งหมด 196 ชนิดพืช รวม 4,518 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 – กรกฎาคม 2560 แบ่งเป็น แปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) จำนวน 1,608 ตัวอย่าง และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานจีเอพี จำนวน 2,904 ตัวอย่าง และแปลงเกษตรอินทรีย์ (ออแกนิค) จำนวน 6 ตัวอย่าง ทั้งนี้สรุปผลการตรวจสอบพบว่าผ่าน ผัก ผลไม้ ผ่านมาตรฐานปลอดภัย 100% เช่น หอมแดง มะเขือยาว ผักสลัด/ไฮโดรโพนิกส์ ผักกาดหอม กระเจี๊ยบเขียว บลอคโคลี ชะอม ถั่วแขก เห็ด กล้วย สตรอเบอร์รี ส้มโอ เป็นต้น สินค้าเกษตรที่เก็บจากแปลงที่ได้มาตรฐาน จีเอพี ผ่านมาตรฐานสารพิษตกค้าง 92.2 % และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐาน จีเอพี ผ่านมาตรฐาน 93.6% ส่วนแปลงเกษตรอินทรีย์ 6 แปลง ไม่พบสารตกค้างทั้งหมด

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ผักผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน สูงกว่าผักผลไม้อื่น พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานประมาณ 7% ของตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่ผักผลไม้บางชนิด เช่น คะน้า 8% พริก 14% มะเขือเทศ 15% กะเพรา/ โหระพา 18% ผักชี 24% ผักชีฝรั่ง36% มะม่วง 8% ลำไย 9% แก้วมังกร 15% ฝรั่ง 18% มังคุด 26% และองุ่น 29% เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่ยังมีมาตรฐานสารพิษตกค้าง (MRLs) กำหนดไว้น้อยมาก ซึ่งผลการพบสารพิษตกค้างนั้นแม้พียงปริมาณน้อยๆ ก็สรุปว่าเกินมาตรฐานแล้ว สินค้าที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทพืชผักสวนครัว ซึ่งบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการเพาะปลูกในประเทศอื่นๆ จึงยังไม่มีข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อกำหนดมาตรฐาน ในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. จะเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามหลักสากลร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ในการกำหนดค่ามาตรฐานต่อไป

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สธ. ได้สำรวจผลผลิตด้านการเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร 130 ชนิดรวมน้ำอีก 1 ชนิดเป็น 131 ชนิดที่คนไทยรับประทานประจำ ที่นำมาประกอบอาหารทั้ง หุง ต้ม ลวก ผัดและย่าง เอประเมินความเสี่ยงของอาหารที่บริโภคเป็นประจำ พบว่า คนไทยปลอดภัยไม่ได้รับสารพิษตกค้าง จากอาหารที่บริโภค ตลอดชั่วอายุคนหากบริโภคให้ถูกสุขลักษณะ คนไทยจะปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในอาหารต่างๆ สารพิษตกค้างชนิดที่พบสูงสุด พบเพียงไม่เกิน 15% ของค่าปลอดภัย และส่วนใหญ่พบไม่ถึง 1% ของค่าปลอดภัย ซึ่งหากพบสารพิษตกค้างมากกว่า 100% ของค่าปลอดภัย บ่งชี้ว่าการปนเปื้อนโลหะหนักจากอุตสาหกรรมการผลิตภาคเกษตร และการกำกับดูแลควบคุมการใช้สารเคมีต่างๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิตของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกันในการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์