“เกษตรฯ-สาธารณสุข” ผนึกกำลังเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรและอาหาร

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตรดำเนินการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากแหล่งผลิตทั่วประเทศทั้งหมด 196 ชนิดพืชรวม 4,518 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนตุลาคม 2559-กรกฎาคม 2560 แบ่งเป็นแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(จีเอพี:GAP) จำนวน 1,608 ตัวอย่าง และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร(จีเอพี:GAP) จำนวน 2,904 ตัวอย่าง และแปลงเกษตรอินทรีย์(Organic )จำนวน 6 ตัวอย่าง สรุปได้ว่า สินค้าเกษตรที่เก็บจากแปลงที่ได้มาตรฐานจีเอพีผ่านมาตรฐานสารพิษตกค้าง 92.2% และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐาน จีเอพี ผ่านมาตรฐาน 93.6% ส่วนแปลงเกษตรอินทรีย์ 6 แปลงไม่พบสารตกค้างทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตร 145 ชนิดจาก 196 ชนิด ผ่านมาตรฐานปลอดภัย 100% เช่น หอมแดง มะเขือยาว ผักสลัด/ไฮโดรโพนิกส์ ผักกาดหอม กระเจี๊ยบเขียว บลอคโคลี ชะอม ถั่วแขก เห็ด กล้วย สตรอเบอรี ส้มโอ เป็นต้น

นายพิศาล พงศาพิชญ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผักผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน เช่น คะน้า พริก มะเขือเทศ องุ่น ส้ม พบสารพิษเกินค่ามาตรฐานประมาณ 7%ของตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่ผักผลไม้บางชนิด เช่น กะเพรา โหไระพา ผักชี ผักชีฝรั่ง มะม่วง ลำไย แก้วมังกร ฝรั่ง มังคุด ซึ่งเป็นพืชที่มีมาตรฐานสารพิษตกค้าง(MRLs )กำหนดไว้น้อยมาก ซึ่งผลการพบสารตกค้าง แม้เพียงปริมาณน้อยๆก็สรุปว่าเกินมาตรฐานแล้ว

สินค้าที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทพืชผักสวนครัวในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการเพาะปลูกในประเทศอื่นๆ จึงยังไม่มีข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อกำหนดมาตรฐาน จึงใช้ค่าห้ามสารตกค้างเกิน 0.01%ไปก่อน ทำให้พบเกินมาตรฐานกันมาก ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจะเร่งกำหนดมาตรฐานตามหลักสากล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ในการกำหนดค่ามาตรฐานต่อไป

ด้านนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างที่ผู้บริโภคได้รับจริงจากอาหาร ที่เรียกว่า “Total Diet Study” ซึ่งเป็นการประเมินการได้รับสัมผัสที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นการศึกษาที่ให้ข้อมูลที่แสดงการได้รับสารพิษจากอาหารได้อย่างแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริง เพื่อประเมินความเสี่ยงของคนไทย โดยเก็บตัวอย่างอาหารคลอบคลุมทั่วทุกภาคตามข้อมูลผู้บริโภคของประเทศมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยตรวจวิเคราะห์สารพิษปนเปื้อนทั้ง 5 ประเภท ได้แก่1. สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 2.โลหะหนัก 3.สารกลุ่มไดออกซินและสารพีซีบีที่มีโครงสร้างคล้ายไดออกซิน 4.สารกลุ่มพีเอเอชและ 5.ยาสัตว์ตกค้าง

ผลการวิเคราะห์พบว่า คนไทยมีความปลอดภัยจากการได้รับสารพิษปนเปื้อนทั้ง 5 ประเภท จากอาหารที่บริโภค โดยสารพิษที่พบสูงสุด พบเพียงไม่เกิน 15%ของค่าปลอดภัยและส่วนใหญ่พบไม่ถึง 1% ของค่าปลอดภัย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์