“ร.9-กษัตริย์นักการสื่อสาร” ทรงใช้ช่วยคนไทยทุกด้าน

หมายเหตุ – รายงานผลการวิจัยเรื่องพระมหากษัตริย์กับการสื่อสารโทรคมนาคม โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค และคณะ

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา นับได้ว่าชาวไทยได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และช่วยเหลือชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่ “พระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร” ของกษัตริย์นักประดิษฐ์ ที่ฉายชัดนับแต่ทรงพระเยาว์ และต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อชาวไทย นั่นเพราะทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ดั่งพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2526 ที่ว่า

“การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุดควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะสมกับฐานะและสภาพของบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติมีโอกาสได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ดี เพราะนอกจากจะทรงเป็นนักประดิษฐ์ด้วยตัวพระองค์เองแล้ว ยังทรงใช้เครื่องมือสื่อสารทั้งวิทยุสื่อสาร สายอากาศและโทรพิมพ์ ประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพสกนิกรของพระองค์ด้วย

“ทรงใช้การสื่อสารเพื่อรับฟังข่าวรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ในหลวง ร.9 ทรงใช้เครื่องวิทยุสื่อสารและระบบสายอากาศส่วนพระองค์ที่ทรงมีด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานข้อคิดในการปรับปรุงที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตหัวหน้ากองสื่อสาร กรมตำรวจ และผู้อำนวยการสำนักงานโทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องโทรศัพท์และเครื่องโทรพิมพ์ที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนกรักษาความปลอดภัยบุคคล กรมราชองครักษ์ ชุมสายโทรศัพท์ และชุมสายโทรพิมพ์ของกระทรวงมหาดไทย กรมประชาสงเคราะห์ ศูนย์การสื่อสารของตำรวจตระเวนชายแดน รวมทั้งได้ใช้ในการเฝ้าฟังและติดต่อกับข่ายวิทยุของตำรวจ “ปทุมวัน” และ “ผ่านฟ้า” โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่ติดต่อกับพระองค์ทางวิทยุไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ และทรงจดจำสัญญาณเรียกขายประมวลคำย่อ (โค้ด “ว”) ได้อย่างแม่นยำและใช้ได้ถูกต้องติดต่อในข่ายวิทยุของตำรวจ

พระองค์จะทรงฟังวิทยุเป็นประจำทุกวันในห้องทรงงานระหว่างทรงงานอื่นๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบข่าวรายงานเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อยู่เสมอ และพระราชทานความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะประทับที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็ตาม

ดังเช่นทรงทราบว่าเส้นทางเสด็จฯ นั้นทำให้ปิดการจราจรเป็นเวลานาน นำความเดือดร้อนให้ราษฎร ก็รับสั่งให้สมุหราชองครักษ์ติดต่อประสานงานเรื่องเวลากับกรมตำรวจเพื่อให้ทราบกำหนดเวลาที่ชัดเจน ทำให้ปิดถนนในระยะเวลาสั้น

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.ขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อปี พ.ศ.2494 เพื่อให้พสกนิกรได้มีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนอย่างในอดีต และเป็นแหล่งให้ความบันเทิง เผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นสื่อกลางที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ

ทั้งยังให้จัดรายการ “บอกบุญ” ไปยังผู้มีจิตศรัทธา ให้ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์และสิ่งของ “โดยเสด็จพระราชกุศล” ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในเหตุการณ์ภัยพิบัติหลายครั้ง อาทิ อหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ.2501 และเหตุการณ์วาตภัยรุนแรงที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2505

“ทรงใช้การสื่อสารเพื่อประโยชน์ของการทรงงานทางการแพทย์และสาธารณสุข

สืบเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้การสื่อสารโทรคมนาคมระบบต่างๆ ติดตามรับฟังข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญสม่ำเสมอ และทรงนำเครื่องมือสื่อสารติดพระองค์ไปในสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อพบว่ามีราษฎรคนใดเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จฯ ดูและและตรวจทันที

สำหรับรายที่บาดเจ็บหรือป่วยหนักจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเร่งด่วน หากทรงมีเวลา จะรับสั่งผ่านทางวิทยุสื่อสารถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาอำนวยความสะดวกแก่ภารกิจด้วยพระองค์เอง อาทิ ติดต่อตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อขอรับการสนับสนุนการขนส่งด้วยเฮลิคอปเตอร์ และจะทรงคอยติดตามความคืบหน้าของการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ ถ้าการปฏิบัติงานมีปัญหาก็จะพระราชทานคำแนะนำวิธีแก้ไขปัญหา และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จนแน่พระราชหฤทัยว่าผู้ป่วยถูกนำส่งถึงโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญแล้วจริง

กล่าวได้ว่ามีผู้ป่วยหนักจำนวนมากที่รอดชีวิตเพราะได้รับการรักษาพยาบาลทันเวลา อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณ ซึ่งเชื่อมต่อวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ในขณะนั้น) ให้มูลนิธิแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) นำไปใช้ในการช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลอีกด้วย

“ทรงใช้การสื่อสารเพื่อประโยชน์ของการทรงงานทางการเกษตรและการพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้ทราบว่าปัญหาหลักประการหนึ่งของประชาชนซึ่งทำไร่ไถนา คือการขาดน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก เมื่อฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล จึงพระราชทานพระราชดำริให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล รับสนองพระราชดำริในการทำฝนหลวง เมื่อสำเร็จแล้วก็ได้นำมาใช้บรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกร

แต่ในระยะแรกของการปฏิบัติภารกิจ “ฝนหลวงพระราชทาน” นี้คือการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศที่ผู้ปฏิบัติการไม่ทราบล่วงหน้า ทำให้นักบินผู้ปฏิบัติการจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำอย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี ระยะแรกยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการ ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันส่งผลต่อปัญหาต่างๆ อาทิ ฝนตกไม่ตรงตามเป้าหมาย ฝนตกน้อยหรือมากไปกว่าที่กำหนดไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงตระหนักว่าปฏิบัติการแต่ละครั้งต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงมีพระราชประสงค์ให้ปฏิบัติการได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ จึงพระราชทานพระราชดำริให้ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ พิจารณาติดตั้งวิทยุสื่อสารแก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งอากาศและที่ภาคพื้นดิน

ทั้งยังทรงศึกษาแผนที่ทางอากาศและข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอย่างละเอียดรอบคอบ แล้วนำมาวางแผนปฏิบัติการแต่ละครั้งล่วงหน้าด้วยพระองค์เอง แล้วจึงพระราชทานข้อมูลและวิธีปฏิบัติต่างๆ ผ่านทางโทรพิมพ์เป็นประจำทุกคืนในช่วงเวลาระหว่างเที่ยงคืน-ตีหนึ่ง ผ่านโครงข่ายระบบสื่อสารของตำรวจ

นอกจากนี้ยังพระราชทานคำแนะนำแก่หน่วยปฏิบัติราชการทางอากาศในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน อาทิ การเปลี่ยนสูตรสารเคมี หรือการเปลี่ยนจุดโปรยสารเคมี จึงนับได้ว่าเครื่องมือสื่อสารทางวิทยุเป็นกลไกสำคัญยิ่งในพระราชภารกิจด้านนี้ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นจนเป็นที่ยอมรับทั้งไทยและต่างประเทศ

“ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารช่วยในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ของประเทศจนเป็นผลสำเร็จในหลายกรณี โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 กรณี คือ เหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และเหตุการณ์วันเมษาฮาวาย 1 เมษายน พ.ศ.2524

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวต่างๆ ทุกระยะผ่านการสื่อสารทางวิทยุของทหารและตำรวจ จนเมื่้อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงจนมีการเสียชีวิตของนักศึกษาและประชาชน ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการใช้มาตรการระงับเหตุด้วยการผ่อนผันโดยละมุนละม่อม

หลังจากนั้นก็ทรงเฝ้าฟังการติดต่อทางวิทยุอยู่ในห้องทรงงานทั้งคืน จนในที่สุดทรงตัดสินพระราชหฤทัยเข้ายุติเหตุการณ์ด้วยพระองค์เอง โดยปรากฏพระองค์และพระราชทานกระแสพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ เหตุการณ์จึงสงบลงในเวลาต่อมา

ขณะที่เหตุการณ์เมษาฮาวายนั้น ผู้ก่อการเข้าควบคุมกำลังในเขตกรุงเทพฯ ได้ พร้อมสั่งการให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ถ่ายทอดแถลงการณ์ของฝ่ายตน ทำให้ประชาชนรวมทั้งข้าราชการเข้าใจผิด แม้ช่วงนั้นรัฐบาลจะทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา พระองค์ก็ยังทรงติดตามข่าวสารเป็นระยะ และทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าหนทางเดียวที่จะผ่านความเลวร้ายของปัญหาและป้องการการเสียเลือดเนื้อคือต้องประชาสัมพันธ์สิ่งที่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบ

จึงได้ทรงแนะแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคให้แก่ พล.ต.ต.สุชาติ นำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่มี ทำให้สามารถถ่ายทอดแถลงการณ์ของรัฐบาลจาก จ.นครราชสีมา ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.ในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก และสามารถตัดการถ่ายทอดคำแถลงของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้ จนในที่สุดกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลก็สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเรียบร้อยและไม่สูญเสียเลือดเนื้อในเวลาต่อมา

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่หาที่สุดไม่ได้

ที่มา : มติชนออนไลนฺ์