เอกชนประสานเสียง ส่งออกอาหารปี’61 พุ่ง 1.12 ล้านล้าน โต 8.7%

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตรา 8.7% มูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วนส่งออกประมาณ 30% ญี่ปุ่น 14% สหรัฐ 10% จีนและแอฟริกามีสัดส่วนเท่ากันที่ 9% เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3.6% ในปี 2560 ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน กุ้ง ไก่ ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ 3 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และปลาป่น ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกหลักของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกหลายรายการ รวมถึง ข้าว ไก่ และกุ้ง รวมถึงราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำไม่กระทบต้นทุนสินค้า ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารตลอดจนภาคการขนส่งมากนัก

นายยงวุฒิ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยในปี 2560 มีอัตราการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เติบโต 2.9% การส่งออกสินค้าอาหารไทยเติบโต 8.3% มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 768,797 ล้านบาท เติบโต 9.4% โดยภาพรวมการส่งออกอาหารไทยปี 2560 ทั้งปีคาดจะมีมูลค่าการส่งออก 1.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งประเมินว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะได้รับปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกไก่ยังได้รับอานิสงส์จากกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเนื้อสัตว์ของบราซิล ประกอบกับความต้องการสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี จะมีส่วนกระตุ้นให้การส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่อเนื่อง

 

Advertisement

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์