สุดยอดงานวิจัย ม.แม่โจ้ คว้ารางวัล ชนะเลิศ (Platinum Award)

สุดยอดงานวิจัย ม.แม่โจ้  คว้ารางวัล ชนะเลิศ (Platinum Award) 

ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

งาน Thailand Research Expo 2016

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Platinum Award) ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559  Thailand Research Expo 2016 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 หรือ  Thailand Research Expo 2016 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)  ร่วมกับเครือข่ายร่วมด้านการวิจัยเพื่อส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของไทย โดยมี 9 ประเด็นกลุ่มงานวิจัย ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 100 หน่วยงาน พร้อมการนำเสนอผลงานวิจัยมากกว่า  500  ผลงาน  ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่งงานวิจัยนำเสนอในกลุ่มงานวิจัยเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่

  • ผลงาน นวัตกรรมระบบการผลิตและการเพิ่มมูลค่าปลาหนังลูกผสมเพื่อชุมชน ของ รองศาสตราจารย์        ดร.เกรียงศักดิ์  เม่งอำพัน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล, อ.ดร.สุดาพร ตงศิริและทีมงาน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ  ซึ่งผลงานวิจัยนี้เป็น ระบบการผลิตปลาหนังลูกผสมช่วยเพิ่มผลผลิตปลาเศรษฐกิจให้กับชุมชน  โดยเพิ่มมูลค่าเนื้อปลาเป็นอาหารสุขภาพ อาทิ เนื้อปลาแช่แข็ง ไส้อั่ว ไส้กรอก เพิ่มมูลค่าเศษเหลือเป็นอาหารปลา การสกัดน้ำมันปลาน้ำจืดที่มีกรดไขมันโอเมก้า 9 มีฤทธิ์ชีวภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหลอดเลือดและเบาหวาน และสกัด  คอลลาเจนจากหนังปลาเป็นเครื่องสำอาง ครีมคอลลาเจนจากหนังปลา ลิปสติกน้ำมันปลา โดยมีรางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติการันตี (EUROINVENT 2016: VIII European Exhibition of Creativity and Innovation, Romania) ซึ่งทั้งระบบเป็นผลงานพร้อมใช้ (นำไปพัฒนาต่อยอด / ขยายผล) จำหน่ายเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
  • ผลงาน ผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของมะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุมาพร อุประ, รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา  แดงปรก, อาจารย์ ดร.รัฐพงศ์  ปกแก้ว, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรผกา  อรรคนิตย์ และทีมงาน คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร โดยผลงานวิจัยนี้ เป็นการแปรรูปมะเกี๋ยง ซึ่งเป็นพื้นเมืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเพิ่มมูลค่าให้กับมะเกี๋ยงเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ขึ้น  จากการวิจัยพบว่า มะเกี๋ยงมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงนำมาแปรรูปเป็นอาหารให้ผู้บริโภคยอมรับ และมีรสชาดดี ได้แก่ น้ำมะเกี๋ยง บรั่นดี  น้ำส้มสายชู แยมมะเกี๋ยง น้ำมะเกี๋ยงเข้มข้น  น้ำมะเกี๋ยงอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชาจากผลมะเกี๋ยง ชาจากยอดอ่อนมะเกี๋ยง ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการนี้ สามารถสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาห์ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) ช่วยให้ได้กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะเกี๋ยงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพืชมะเกี๋ยงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนและท้องถิ่นสามารถอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมะเกี่ยงร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โดยทั้งสองผลงานได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการ 3 เกณฑ์หลัก ได้แก่ 1. เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณค่า  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ตอบสนองเชิงพาณิชย์ และสังคมชุมขน    2. มีเทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยให้กับผู้เยี่ยมชมงานจนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และ 3. มีการจัดแสดงนิทรรศการได้สวยงาม  น่าสนใจ   ส่งผลงให้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Platinum Award ในการแสดงผลงานวิจัยในครั้งนี้ ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “เป็นความภาคภูมิใจที่ทางคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สถาบันวิจัยระดับชาติล้วนชื่นชมผลงานจากแม่โจ้ในความสำเร็จครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับผลงานวิจัยของทีมงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จระดับชาติมาอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักวิจัยที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นเพื่อมหาวิทยาลัยทุก ๆ ท่าน อาทิ  รองศาสตราจารย์เกรียงศักดิ์  เม่งอำพัน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล  อ.ดร.สุดาพร  ตงศิริ และทีมงาน คณะเทคโนโลยีการประมงฯ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุมาพร  อุประ องศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา  แดงปรก, อาจารย์ ดร.รัฐพงศ์  ปกแก้ว, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรผกา  อรรคนิตย์และทีมงาน คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร และนักวิจัยอีกหลายท่าน เราเชื่อมั่นว่า แม่โจ้จะมีนักวิจัยระดับชาติและนานานชาติเช่นนี้สืบต่อไป เป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นถัดไปด้วย”