พลิกโฉมภูเก็ต! ส่องธุรกิจSME 4.0 “ระบบเก็บขยะอัจฉริยะ” เเจ้ง “จุดขยะล้น” บริหารเเบบดิจิทัล

ถึงเวลา “เอสเอ็มอี” พลิกธุรกิจเข้าสู่ยุค 4.0  เปิดตลาดก่อนใคร ล้ำหน้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล  “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์”  พาลงภาคใต้ ส่องผู้ประกอบการแนวคิดไกลแห่งเมืองเศรษฐกิจใหญ่อย่าง “ภูเก็ต”

ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้มาเยือนกว่าปีละ 13 ล้านคนต่อปี สิ่งที่มาพร้อมกันนี้นอกจากจะเป็นความเจริญด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนแล้ว อีกด้านที่มากับการท่องเที่ยวและคนจำนวนมากนั่นคือ “ขยะ”

เริ่มต้นกันด้วย ธุรกิจจัดการขยะยุคใหม่ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกระแสดิจิทัลได้อย่างดีเยี่ยม เจ้าแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี มาใช้กับ “ธุรกิจบริการเก็ยขยะ” อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางแผนระบบการจัดการภายใต้ “โครงการแยกขยะ” ในพื้นที่หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดประเทศอย่าง “หาดป่าตอง”

เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัท “ดี-คิดส์” จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจบริการเก็ยขยะในหาดป่าตอง ที่เริ่มต้นดำเนินกิจการมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี และถือเป็นเอกชนเจ้าแรกที่ได้รับสัมปทานในการเก็บขยะ เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้รัฐเป็นฝ่ายบริหารด้านขยะ แต่เนื่องด้วยปัญหาขยะที่มากขึ้นทุกปี อีกทั้งรัฐมีการบริหารจัดการในช่วง “เวลางาน” ที่จำกัด จึงมีการขยายมาให้เอกชนเป็นผู้บริหาร โดยจะมีรายได้หลักมาจากงบประมาณของเทศบาลที่ได้มาจากการประมูลปีละ 42 ล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดเก็บขยะได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีพนักงานปัจจุบันอยู่ราว 80 คน

บริษัท “ดี-คิดส์” นั้น แต่เดิมทำงานด้านการศึกษาคอมพิวเตอร์  การก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจขยะนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สร้างความท้าทายอย่างมาก

เธอบอกว่า “ทุกอย่างต้องเรียนรู้เองทั้งหมด และค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข จัดระบบให้เข้ากับพื้นที่ ดูพฤติกรรมคนและเวลา เช่นถนนเส้นที่มีสถานบันเทิง ควรไปเก็บช่วงหลังตีสอง หรือแถวชายหาดควรเก็บแต่เช้าตรู่ ทำให้ต้องจัดการระบบเวรและเส้นทางของรถขยะได้แม่นยำและเหมาะสมกับแต่ละสถานที่”

และเพื่อให้การจัดเก็บขยะ…ไม่ธรรมดาอีกต่อไป “ดี-คิดส์” จึงผุดแนวคิดนำระบบการเก็บขยะแบบอัจฉริยะขึ้นมา และต้องการปลุกจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของผู้คน โดยมีแอปพลิเคชั่นแจ้ง “จุดขยะล้น” ให้ทุกคนสามารถส่งภาพและจุดที่ต้องการให้เก็บขยะแบบเร่งด่วนมาได้ทันที

โดยระบบจัดเก็บขยะนี้ ประกอบด้วย 1 )  ถังขยะอัจฉริยะติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบการวัดปริมาณขยะและสิ่งแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิและความชื้น 2)  แอปพลิเคชั่นมือถือ “Patong Report” ช่องทางการร้องเรียนใหม่ที่เปิดโอกาสให้ “ประชาชน” ทุกคนสามารถแจ้งจุดขยะและให้เจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะได้ทันที 3)รถเก็บขยะอัจฉริยะติดตั้ง GNSS หรือ GPS ความละเอียดสูง สามารถเช็กตรวจสอบตำแหน่งพฤติกรรมการขับขี่ การทำงานและการบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และ 4 ) ระบบบริหารจัดการขยะ (Dashboard) ซึ่งเป็น Web Application เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการขยะ บริหารเส้นทางการจัดเก็บขยะ ตั้งแต่การรวบรวม นำเสนอข้อมูลปริมาณขยะทั้งจากเซนเซอร์ และ PRMA การบริการขยะ รวมไปถึงในอนาคตกำลังจะปรับปรุงด้านการค้นหาเส้นทางการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ลด

ภาพจาก play.google.com

เฉลิมรัตน์  กล่าวว่า Waste connection for smart cities ระบบเก็บขยะในเมืองอัจฉริยะ ใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชั่นในการควบคุมขยะ เป็นความร่วมมือกับภาครัฐท้องถิ่น และพัฒนาระบบโดย กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT  ถือเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับธุรกิจแบบเก่า สอดคล้องนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดสนใจ สามารถนำไปปรับใช้เป็นต้นเเบบได้ โดยทางบริษัทพร้อมจะเผยเเพร่ระบบจัดการขยะยุคใหม่ให้กระจายทั่วประเทศไทย ไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าส่งผลให้มีขยะลดลงถึง 30 % จากปริมาณเฉลี่ย 150 ตันต่อวัน ปัจจุบันทางบริษัทมีรถขนส่งขยะอยู่ 8 คัน พร้อมจะขยายเพิ่มเป็น 15 คันและเครื่องจักรที่จำเป็น มาเปลี่ยนภาพลักษณ์รถขยะ ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการขอกู้กับทาง SME Development Bank ประมาณ 10 ล้าน ขณะที่ช่วงเริ่มต้นของกิจการเราได้เงินทุนมาก้อนแรก 5 ล้านบาท” กรรมการบริษัทดี-คิดส์กล่าว

สำหรับการขอกู้กับ SME Development Bank นั้นเธอเล่าว่า ด้วยค่าดอกเบี้ยถูกและไม่ใช้หลักทรัพย์มาก แต่จะเน้นไปที่ทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และเข้ากับนโยบาย 4.0 คือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับธุรกิจ ซึ่ง ทาง SME Development Bank ให้ความสำคัญกับจุดนี้ ประกอบกับต้นทุนที่ดีของบริษัท ทำให้การอนุมัติกู้ได้ไม่ยากมากนัก

” 4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงของการทดลอง ธุรกิจไม่ใช่ว่าทำเเล้วจะได้ผลกำไรทันที ต้องอดทนเเละรอบคอบ ขณะที่บางเรื่องต้องลองผิดลองถูก คิดพัฒนาไปเรื่อยๆ ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาช่วย ลดใช้เเรงงานคน พร้อมบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ เรามองกำไรในระยะยาว”

ขณะเดียวกัน เธอเผยถึงปัญหาอุปสรรคใหญ่ของ “ธุรกิจบริการเก็ยขยะ” ที่แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้วก็ตาม นั่นก็คือ “การทิ้งขยะแบบไม่มีวินัยและไม่คัดแยกของคน”  จึงอยากขอความร่วมมือกับผู้อยู่ในพื้นที่ ที่แม้บางทีจะร่วมมือกับชาวป่าตองได้ แต่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามายังมีการทิ้งขยะไม่ถูกที่และผิดเวลา ที่ทุกวันนี้แม้มีจะมีมาตรการจับปรับ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ดังนั้นควรจะมีการติดกล้องซีซีทีวีและ Wi-Fi ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนในการณรงค์การคัดแยกขยะด้วย

“ป่าตองมีประชากรหลักเเสน ไม่ได้บันทึกในทะเบียนราษฎร์ เเต่ทุกคนล้วนมีการสร้างขยะ เเม้จะมีการคัดเเยกเเล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ยังต้องส่งเข้าเตาเผารวมที่ตัวเมืองภูเก็ตถึงวันละ 140-150 ตันต่อวัน อนาคตอาจพุ่งถึง 200 ตันต่อวัน เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว สำหรับนโยบายคัดเเยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราต้องเเบ่งเป็นส่วนย่อยขยะ เก็บจำพวกขวดเเละภาชนะ ส่วนนี้จะเก็บได้ราว 10 % จากนั้นมาเเบ่งเป็นส่วนคัดเเยกเศษอาหาร นำไปเป็นปุ๋ยหรือนำไปขาย เป็นรายได้เสริมอีกทาง” เฉลิมรัตนกล่าว

เเละเมื่อมองถึงประโยชน์ชุมชนเเล้ว “ดี-คิดส์” ก็เกิดปิ๊งไอเดีย “ขยะต้องมีมูลค่า” โดยหลังจากที่นำขยะจากเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยขายพร้อมทั้งเเจกจ่ายประชาชนเเล้ว ก็ยังมีปุ๋ยเหลือจำนวนมาก จึงนำมาสู่ความร่วมมือเพื่อสิ่งเเวดล้อมกับทางเทศบาลเมืองป่าตอง เเละชาวบ้านชุมชนบ้านมอญ ใน “โครงการผักปลอดสารพิษ” โดยมีการเช่าพื้นที่กว่า 11 ไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษนานาชนิดขึ้นมา ภายใต้การดูเเลของประชาชนทั้งหมด

“มีการจัดกิจกรรมขึ้นว่า ให้ประชาชนสามารถนำขวด นำขยะรีไซเคิลจากที่บ้านของท่าน มาเเลกเป็นผักเเละผลไม้ไปรับประทานที่บ้านได้  โดยมีราคาที่กำหนดไว้ชัดเจน ตามมูลค่าตามผักที่ต้องการ เป็นการปลูกฝังเเละเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดเก็บขยะตั้งเเต่ในบ้าน ส่วนใครที่ไม่มีขยะมาเเลก ก็สามารถมาซื้อผักปลอดสารพิษได้ในราคาถูก เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้ในการบริหารจัดการ

…ชาวบ้านตั้งกลุ่มจัดการกันเอง ทุกคนมีส่วนร่วมเเละเอาผักไปกินได้ทุกคน สิ่งนี้มาจากการที่เรามองผลประโยชน์ส่วนรวม เราไม่ได้ยุ่งกับเรื่องเงิน การขายหรือการจัดการของชุมชน เเต่สนับสนุนเรื่องปุ๋ยให้อย่างฟรีๆ ให้คำปรึกษา เพื่อต้องการลดการทิ้งขยะให้ได้มากที่สุด” 

ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลต้นเเบบของธุรกิจเอสเอ็มอี จัดการขยะยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้ชุมชน เเละรักษ์สิ่งเเวดล้อมได้อย่างดียิ่ง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์