เรียนรู้การออกแบบพระเมรุมาศ ผ่านนิทรรศการ “พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลเเละการออกเเบบ””

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกเเบบ ทีซีดีซี (TCDC) เปิดนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลเเละการออกเเบบ” ซึ่งจัดเเสดงองค์ความรู้การก่อสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุมาศเเห่งรัชกาลที่ 9 ที่ ห้องเเกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกเเบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลเเละการออกเเบบ” ว่า นับเป็นเวลา 1 ปีเเห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เชื่อมั่นว่าเมื่อทุกคนได้เห็นจะเกิดความภาคภูมิใจ เเละเมื่อได้เห็นการทำงานเบื้องหลังจะรู้สึกซาบซึ้ง โดยสถาปัตยกรรมไทยมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์

“รัฐบาลต้องพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ คือมุ่งเน้นการศึกษา เเละด้านวิชาชีพ มุ่งเน้นด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกเเบบ กล่าวรายละเอียดเเละที่มาของนิทรรศการว่า นิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” (Insight | Thai | Architecture) ถ่ายทอดองค์ความรู้ ศิลปะวิทยาการและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ผ่านกรณีศึกษาพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม สถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ได้นำเสนอผ่านการจัดแสดงในส่วนต่างๆ ได้แก่ 1) โซน “คติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” ที่จะนำเสนอความเชื่อทางศาสนา ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบอกเล่าเนื้อหาการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบจากกรมศิลปากร รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางหลักวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างพระเมรุมาศในรัชกาลก่อนหน้า

“ระบบสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีถ่ายทอดความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามจักรวาลคติให้ปรากฎเป็นกายภาพ โดยคติไตรภูมิคัมภีร์พุทธศาสนากำหนดลักษณะของจักรวาลว่ามี สัณฐานกลม เเกนกลางคือเขาพระสุเมรุ สวรรค์ที่ประทับของพระนารายณ์ซึ่งอวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความสงบสุขให้โลกมนุษย์ เเละเมื่อถึงวาระจึงกลับคืนสู่เขาพระสุเมรุที่เคยประทับ”

โดยในโซนนี้ ตรงกลางจะมีเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ พร้อมทั้งมีการฉายภาพเคลื่อนไหวของจักรวาลผ่านแบบจำลองพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามบริเวณพื้นภายในห้องจัดเเสดงรายล้อมเอาไว้ และมีสัตตบริภัณฑคีรีล้อมรอบ ตลอดจนมีการจัดแสดงหุ่นจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ขนาด (1:50) อีกด้วย

2) โซน “โรงขยายแบบเท่าจริง ศิลปกรรม และศิลปสำหรับงานสถาปัตยกรรม” จัดแสดงแบบร่างมือเท่าขนาดจริง (1:1) ในส่วนงานสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอศิลปะต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมชั่วคราวในงานพระราชพิธีฯ อาทิ ศิลปะการซ้อนไม้ ที่ใช้แทนการแกะสลักในสถาปัตยกรรมถาวร คือเทคนิคการก่อสร้างอาคารชั่วคราวที่ใช้ไม้เเผ่นบางประกบกันให้เกิดมิติความตื้นลึก ขององค์ประกอบ เเละลวดลาย ถือเป้นงานที่มีความซับซ้อนสูงสุดสำหรับศิลปะในการก่อสร้าง, ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น สาบสี สอดแวว แทนการประดับกระจกสีสมัยโบราณในอาคารถาวร เริ่มจากการฉลุเเผ่นพลาสติกตามลายที่ออกเเบบไว้ เเล้วนำลูกประคบ หรืออาจใช้ฟองน้ำก้อนกลมเเต้มสีที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไปประคบที่เเผ่นพลาสติกที่ฉลุไว้ จะได้ลายปรากฎบนผิวชิ้นงาน, และศิลปะการตบสี ลักษณะคล้ายการทำ stencil สมัยโบราณใช้การจุ่มสีทองคำเปลว

3) โซน “ครูสร้างนักออกแบบให้เป็นคน” บอกเล่าแนวคิดและวิถีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์ ผู้ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกที่อยู่เบื้องหลังการทำงานออกแบบและปฏิบัติการสร้างพระเมรุมาศ ให้เกิดการสร้างสรรค์ในการพัฒนาความรู้ไปสู่กระบวนการทำงาน การใช้ชีวิต และการสืบทอดงานศิลป์สู่คนรุ่นหลัง

4) โซน “เวิร์กช็อปตามรอยสถาปนิกไทย” สำหรับโซนนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถทดลองทำงานศิลปะ อาทิ การฝึกเขียนแบบร่างลายไทยเบื้องต้น โดยการเขียน “กระหนก” องค์ประกอบพื้นฐานที่สุดของลายไทย เเละการทำตบสี ตามเเบบฉบับโบราณ ที่จะมีคนคอยให้ความรู้ตลอดเวลาระหว่างทำกิจกรรม

โดย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกเเบบ เผยว่า นิทรรศการดังกล่าว มุ่งนำเสนอคติความเชื่อและหลักคิดเกี่ยวกับความเหมาะสม เป็นแรงบันดาลใจที่มาขององค์ความรู้ในกระบวนการออกแบบ ขั้นตอนการผลิตชิ้นงาน และวิถีการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ด้านสถาปัตยกรรมไทย

ด้าน ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงงานสถาปัตยกรรมไทยจากพระเมรุมาศ ว่า ทางมหาวิทยาลัยยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการในครั้งนี้ โดยพระเมรุมาศเป็นสถาปัตยกรรมขั้นสูง เป็นส่วนสำคัญกับราชประเพณีไทยเเต่โบราณ การสร้างพระเมรุมาศเกิดขึ้นภายใต้องค์ความรู้ ด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม โดยพระเมรุมาศเป็นสถาปัตยกรรมที่รวมฝีมือของช่างอันทรงคุณค่าเข้าไว้ด้วยกัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์