เกษตรอินทรีย์หวั่นพ.ร.บ.พันธุ์พืชใหม่ ทำพืชจีเอ็มโอครองตลาด จวกออกกม.มาหยุดการพัฒนาของเกษตรกร

กรณีที่กรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ผ่านเว็บไซต์ภายในของกรมวิชาการเกษตรระหว่างวันที่ 5-20 ตุลาคมนี้ ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี และถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีความเห็นชอบ จะส่งร่างดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไปนั้น นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรและเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองได้ต่อไปและยังส่งผลดีต่อการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ เป็นการสร้างประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของการผลิตสูงขึ้นและเกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ของตนเองไว้เพาะปลูกได้ตามสิทธิพิเศษของเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัตินี้

ถ้าเป็นไปตามแผนสามารถปรับปรุง กฎหมายได้ จะส่งเสริมให้เกิดนักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย เกิดแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ และมีแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลาย ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้นมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมแปรรูป จะมีการขยายตัวการลงทุนเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ๆ ได้ผลดีทั้งในประเทศและการส่งออก

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายอำนวย คลี่ใบ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอินทรีย์ บ้านป่าไผ่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า ในจังหวัดแพร่ มีประชาชนจำนวนมากที่หันมาสนใจการพัฒนาการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ต้องมีการเก็บเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์เองคือการคัดเลือกพืชที่มีความทนทานต่อโรคและแมลงตามธรรมชาติ จนสายพันธุ์นั้นๆ ได้ผลดีจะมีการเก็บเมล็ดไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เป็นการผลิตอาหารที่ไม่ปนเปื้อนการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม GMO เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

“ถ้ากรมวิชาการเกษตรที่มีการรับฟังความคิดเห็นภายในเว็บไซต์ของตนเอง เชื่อแน่ว่าเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึง นอกจากผู้ที่ต้องการปรับปรุงพันธุ์พืชระดมให้ความคิดเห็น ตนจึงขอเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนในการคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวและขอให้มีการเปิดให้พันธุ์พืชยังเป็นของสาธารณะต่อไป ทุกวันนี้กลุ่มทุนใหญ่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชหลายชนิดเพื่อส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยา เพิ่มมูลค่าการขายอยู่แล้ว เกษตรกรได้ยึดเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เก็บเมล็ดพันธุ์ปรับปรุงเองสู้กับพืชในตลาด และกำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีพ.ร.บ.นี้ ออกมาหยุดยั้งการพัฒนาของเกษตรกรมากกว่า”

 

ที่มา : มติชนออนไลน์