1 ปีสืบสาน งานเกษตรของพ่อ

13 ตุลาคม 2560 ครบรอบวันคล้ายวันสวรรคตของ “พ่อ”

กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดทำ “คู่มือสื่อมวลชน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ ๒๕-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐”

คู่มือนี้มีความยาว 220 หน้า ในที่นี้ได้สรุปสาระสำคัญหัวข้อ “พระราชกรณียกิจ” (หน้า 25-55) พบว่า ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

การทรงงานในแต่ละพื้นที่ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,447 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกด้าน

ในที่นี้ คัดลอกเฉพาะงาน “ด้านการเกษตร การชลประทาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต” พบว่า ในปี 2496 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในเขตภาคกลาง ทำให้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับแหล่งน้ำโครงการแรก เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในตอนนั้น เกิดเหตุการณ์รถยนต์พระที่นั่งติดหล่ม ทรงเห็นชาวบ้านหาบน้ำด้วยความเหนื่อยยาก จึงพระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 2506 นำไปสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ โครงการแก้มลิง และโครงการฝนหลวงในเวลาต่อมา

ในปี 2503 นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อาทิ ป่าไม้สาธิต (2503-2504) นาข้าวทดลอง (2504) โรงโคนมสวนจิตรลดา (2505) บ่อเพาะพันธุ์ปลานิล (2508)

โรงนมผงสวนดุสิต (2512) โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา (2514) โรงบดแกลบ (2518) โครงการไบโอดีเซล (2546) สาธิตการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้า (2550) ฯลฯ

ในปี 2512 จัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา โดยให้หันมาปลูกพืชอื่นทดแทนฝิ่น ละทิ้งการทำไร่เลื่อนลอยและถางป่า

ปี 2522 จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 6 แห่ง ทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”

ในปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทรงพระราชทานทฤษฎีใหม่ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยใช้พื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นแปลงสาธิตอย่างเป็นรูปธรรม

องค์กรระหว่างประเทศ “ยูเนสโก” ได้ถวายสดุดียกย่องรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์นักพัฒนา และย้ำว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระองค์ท่านมีส่วนคล้ายกับพิมพ์เขียวของยูเนสโกที่มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030 อีกทั้งยูเนสโกได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพ ซึ่งอยู่ใน 17 เป้าหมายหลักของยูเนสโกที่นำไปใช้พัฒนาในระดับโลก

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,447 โครงการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ กระทรวงเกษตรฯสามารถสืบสานพระราชปณิธานตามแนวทางตามทฤษฎีของพระองค์ท่าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

โดยไม่ต้องริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ด้วยซ้ำไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์