นวัตกรรมบนเส้นทางประชารัฐรักสามัคคีฯ เครื่องสีข้าวเพื่อครัวเรือนและชุมชน

นวัตกรรม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งวันนี้นักวิจัยมีความสุขมากขึ้น เมื่อภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันทำงานภายใต้นโยบาย “ประชารัฐรักสามัคคีฯ” นำไอเดียของนักวิจัยมาต่อยอด โดยล่าสุดให้สนับสนุนและเปิดตัวเครื่องสีข้าว 2 แบบ คือ เครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน หรือแบบพกพา และเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน อันเป็นผลงานของ รศ.ดร. ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมงาน ที่สามารถนำไปใช้กับร้านในชุมชนเพื่อหารายได้อีกต่อหนึ่ง นับเป็นวิธีคิดของภาครัฐและภาคเอกชนอันจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมของนักวิจัย

รศ.ดร. ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงแนวคิดนวัตกรรมเครื่องสีข้าวทั้ง 2 แบบ ที่นำมาสู่การต่อยอดในนโยบาย “ประชารัฐรักสามัคคีฯ” ว่า มาจาก 3 แนวคิด คือ หนึ่ง ต้องการให้เกษตรกรมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้เอง สอง เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เกษตรกร และ สาม ให้แต่ละครัวเรือนสามารถมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้

dsc_2452

จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์เครื่องสีข้าวออกมา 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน เหมาะสำหรับครัวเรือนทั่วไป มีกำลังความสามารถในการสีข้าวเปลือกได้ครั้งละ 500 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งจะได้ปริมาณข้าวสวย 2 มื้อ โดยตั้งราคาขายเครื่องละ 20,000 บาท เท่านั้น และ แบบที่ 2 เป็นเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน สามารถสีข้าวเปลือกได้ถึง 20 กิโลกรัม ราคาขายเครื่องละ 30,000 บาท

dsc_2284

“เครื่องสีข้าวทั้ง 2 ตัว แปลงร่างมาจากเครื่องสีข้าวครัวเรือน แต่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยมีจุดเด่นเน้นให้รองรับสายพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์ มีตะแกรง 3 ตะแกรง รองรับข้าวสายพันธุ์หลักในไทย ได้แก่ ข้าวก่ำ หรือข้าวลืมผัว ซึ่งมีขนาดเม็ดข้าวใหญ่ ป้อม และเปลือกแข็ง, ข้าวขนาดมาตรฐาน อย่างข้าวหอมมะลิ จากทางภาคอีสาน และข้าวเม็ดเล็ก เปลือกบาง อย่างข้าวสังหยด โดยรูปลักษณ์ของเครื่องสีข้าวที่ได้รับการต่อยอดครั้งนี้ ได้รับทุนวิจัยจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มาดูแลเรื่องงบฯ ในการดีไซน์หน้าตาเครื่องสีข้าวให้ทันสมัย และดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตเครื่องสีข้าวให้สามารถทำราคาได้ไม่แพง และสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับ (Premium) เพราะรูปลักษณ์เครื่องสีข้าวเหมาะไว้ประจำในครัวเรือน หรือใช้ในชุมชนก็ได้” รศ.ดร. ศักดา เล่าให้ฟังถึงนวัตกรรมเครื่องสีข้าว

ดร. ศักดา ยังเล่าอีกว่า การทำงานพัฒนานวัตกรรม “เครื่องสีข้าว” เป็นความร่วมมือจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ เรียกว่า 3 ประสาน คือ ในฝั่งของ บมจ. ไทยเบฟฯ, ฝั่งประชารัฐรักสามัคคีฯ และฝั่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นโยบายของภาครัฐจับนวัตกรรมของนักวิจัยมาเชื่อมโยงกับเกษตรกรในระดับรายบุคคล ผ่านนวัตรกรรม “เครื่องสีข้าว” ครัวเรือนทั้ง 2 รูปแบบ

รศ.ดร. ศักดา อธิบายว่า นวัตกรรมเครื่องสีข้าวมีทั้งแบบขนาดที่เหมาะกับครัวเรือน และเหมาะกับขนาดของคอนวิเนียนสโตร์ หรือร้านค้าในชุมชน นับเป็นนวัตกรรมที่ส่งผ่านข้าวเปลือกไปยังผู้บริโภค และผู้บริโภคสามารถรับประทานข้าวสดได้ตามปริมาณที่ต้องการจากเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก

dsc_2346

กว่าเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน หรือแบบพกพา และเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน จะมีหน้าตากะทัดรัดอย่างที่เห็นนี้ ใช้เวลาการพัฒนาและต่อยอดมาครบ 10 ปี โดยนับถอยหลังก่อนหน้านี้เพียง 1 ปี ในช่วงกลางปี 2558 รศ.ดร. ศักดา ได้เปิดตัวผลงานวิจัยนวัตกรรมเครื่องสีข้าวชุมชน-120 รุ่นที่ 3 มีราคาเพียง 80,000 บาท ประหยัดกว่าเครื่องสีข้าวที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปถึง 100,000 บาท โดยเป็นเครื่องสีข้าว 3 in 1 สีได้ทั้งข้าวกล้อง ข้าวสารขาว และข้าวซ้อมมือ มีตัวเครื่องหนัก 350 กิโลกรัม ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 2 เมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2.2 กิโลวัตต์ 220 โวลต์ 15 แอมแปร์ สีข้าวเปลือกได้ 100 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง มีประสิทธิภาพกะเทาะข้าวเปลือก 80% ทำให้ได้ปริมาณข้าวรวม 60-65%

การวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าวชุมชน-120 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลือกให้เป็นเครื่องจักรกลเกษตรในโครงการเกษตรศาสตร์ เทิดพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา โดยผลิตเครื่องสีข้าวดังกล่าวจำนวน 120 เครื่อง มอบให้กับมูลนิธิพระดาบสและชุมชนเกษตรกรนำไปใช้สีข้าวเปลือกให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยได้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากมูลนิธิสวิตา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ ทีมวิจัยของ รศ.ดร. ศักดา นั้น เริ่มต้นวิจัยเครื่องสีข้าวเป็นก้าวแรกอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2546 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก” ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดตั้งโครงการวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องสีข้าวที่เหมาะสม (Appropriate Rice Mill) ต่อสภาพพื้นที่และการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรไทย โดยผลงานชิ้นแรกของโครงการ คือ “ตุ๊ก ตุ๊ก สีข้าว” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ตุ๊ก ตุ๊ก สีข้าว” มีราคาจำหน่ายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 300,000 บาท เป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ทั้งในเขตเมืองและชนบทห่างไกล โดยใช้ได้ทั้งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 กำลังม้า กระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ 15 แอมแปร์ หรือกับเครื่องยนต์ขนาด 5 กำลังม้า สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ได้ประชุมงานเป็นครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดประชุมความคืบหน้าบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ครอบคลุมพื้นที่ระยะที่ 1 จำนวน 5 จังหวัด รวมทั้งหมด  6 วาระ ซึ่งมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่งหัวโต๊ะการประชุม ในตำแหน่ง หัวหน้าทีมภาครัฐ และหัวหน้าโต๊ะจากทีมภาคเอกชน คือ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ในตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยเรื่องเครื่องสีข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา “การเชื่อมโยงผู้บริโภคกับเกษตรกร ในโครงการสีข้าว มี คุณประวิช สุขุม เลขานุการร่วมภาคเอกชน เป็นผู้ดูแลหัวข้อการพิจารณา

ในการประชุมมีเนื้อหา วัตถุประสงค์โครงการสีข้าว ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกร คือ 1. เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาวผ่านการพัฒนาเครื่องสีข้าวสำหรับผู้บริโภค (Food Service และครัวเรือน) ให้สามารถขัดสีข้าวได้ในเวลาและปริมาณที่ต้องการ 2. สร้าง supply chain ข้าวเปลือกอบแห้งเพื่อรองรับเครื่องสีข้าว 3. สร้างช่องทางการขายใหม่ให้กับชาวนา สามารถขายข้าวได้ตรงกับผู้บริโภคในราคาที่สูงขึ้น และ 4. เป้าหมายในการนำออกตลาดภายในปีนี้

dsc_2418

ทั้ง คุณมีชัย วีระไวทยะ กรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้อาวุโสในที่ประชุมดังกล่าว ได้อุดหนุนเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน จำนวน 60 เครื่อง เพื่อบริจาคให้โรงเรียนต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นการจุดประกายให้กับการเชื่อมโยงเรื่องการสีข้าวไปยังผู้บริโภคที่เป็นเยาวชน ให้เกิดการเรียนรู้และซึมซับจากนวัตกรรมของนักวิจัยไทยที่มุ่งมั่นคิดค้นมาถึง 1 ทศวรรษ

เพราะฉะนั้น จากจุดเล็กๆ ของนักวิจัยไทย นำมาสู่การพัฒนาต่อยอดให้กับนโยบายระดับประเทศ โดยเฉพาะ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ” ที่ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันนำนวัตกรรม “เครื่องสีข้าว” พัฒนาชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังอันสำคัญของประเทศไทยมาช้านาน ให้มีชีวิตที่อยู่ดี กินดี อย่างมีความสุข ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคมไทย และสิ่งที่ได้กลับคืนมาเป็นอานิสงส์ในทางอ้อม คือเยาวชนไทยจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและชาวนา ผ่านนวัตกรรม “เครื่องสีข้าว”