การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจันทบุรีด้วยเกษตร 4.0

สำนักงานคลังจังหวัดจันทบุรี โดย คุณลาวัลย์ พันธุ์นิล คลังจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี จัดงานเสวนาร่วมภาครัฐและเอกชน สร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจันทบุรีด้วยเกษตร 4.0” เพื่อกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจของผลไม้จังหวัดจันทบุรี ท่ามกลางตลาดการแข่งขัน

เริ่มต้นด้วยรูปแบบการนำเสนอ “ยุทธศาสตร์จังหวัดจันทบุรีภาคเกษตร” ในเชิงวิชาการด้วยข้อมูลเจาะลึก ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ

ตามด้วยการเสวนาร่วมจากตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจันทบุรีด้วยเกษตร 4.0” ประกอบด้วย ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี ดร.สุทัศน์ รงรอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. ดูอินไทย ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ คุณภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานกลุ่มทุเรียน EXOTIQ และ คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคเอกชน เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

ทำตลาดซุปเปอร์พรีเมี่ยมทุเรียน เพิ่ม 1% สร้างมูลค่าเพิ่ม 3,500 ล้านบาท

ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี  กล่าวว่า การพัฒนาจันทบุรีเป็นเมืองมหานครผลไม้เป็นแนวทางการพัฒนาระดับประเทศ การก้าวสู่เกษตรกรรม 4.0 คือการทำคุณภาพ ผลิตน้อยแต่ให้ผลตอบแทนมาก แนวทางพัฒนาภาพรวม ต้องมีองค์ประกอบที่ต้องสัมพันธ์กันทั้งหมดคือ สร้างสินค้าคุณภาพ เพิ่มมูลค่าผลผลิต วางระบบการค้าและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ กำหนดและกำกับมาตรฐานราคาสู่สากลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร ตลอดห่วงโซ่มูลค่า การสร้างมูลค่าเพิ่มต้องทำอย่างไร

ตัวอย่างการผลิตทุเรียนชัดเจนมาก ปี 2559 ผลผลิต 664,000 ตัน ของจริงที่ทำกันคือ แปรรูปส่งออก 15.6% ทุเรียนสดส่งออก 60.3% ทุเรียนสดบริโภคภายในประเทศ 24.1% ส่วนทุเรียนตกไซซ์ไม่มีรายงาน  หากปรับสัดส่วนใหม่และเปรียบเทียบมูลค่าเพิ่มเห็นชัดเจน คือผลิตแบ่ง 4 เกรด ซุปเปอร์พรีเมี่ยม 1% พรีเมี่ยม 22% (แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 3% ส่งออกสด 3% แปรรูป 16%) อีก 76% คือ สแตนดาร์ด (ทุเรียนสดส่งออก 50% บริโภคภายในประเทศ 26%) และตกไซซ์ 1%

Advertisement

ดร.วศิน กล่าวอีกว่า คาดการณ์ผลผลิตปี 2560-2564 จำนวน 700,000 ตัน เปรียบเทียบราคาประมาณการต่อกิโลกรัมปี 2559 +5 บาท/กิโลกรัม จำนวน 664,000 ตัน ซุปเปอร์พรีเมี่ยม 1% ราคากิโลกรัมละ 500 บาท จะได้มูลค่าเพิ่ม 3,500 ล้านบาท พรีเมี่ยม 22% ส่งออกราคากิโลกรัมละ 250 บาท บริโภคภายในประเทศ 150 บาท เพิ่ม 9,050 ล้านบาท สแตนดาร์ดจะได้มูลค่าเพิ่ม 1,822 ล้านบาท และตกไซซ์ 1% ได้มูลค่าเพิ่ม 140 ล้านบาท มูลค่าทั้งหมดปี 2559 จำนวน 26,268 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,780 ล้านบาท คือเพิ่มขึ้น 14,512 ล้านบาท

“การสร้างสินค้าตัวใหม่ๆ อย่างทุเรียนซุปเปอร์พรีเมี่ยม ตลาดจีนคนที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนมาก บริษัท เอสซีจี พร้อมระบบขนส่งที่รวดเร็ว ต้องการผลผลิตจำนวนมาก แต่ยังไม่มีเกษตรกรที่จะทำตรงนี้ การเพิ่มมูลค่าทุเรียนตกไซซ์หากแกะเนื้อใส่แพ็กบริโภคสดหรือแปรรูปแช่แข็ง อบ กวน อย่างฟรีซไดร์ เพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่า มังคุดเช่นเดียวกัน ถ้าบริหารจัดการดีๆ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย สร้างการรับรู้ช่วยยกระดับราคาสินค้า มังคุดคัดออกไม่มีเมล็ด หวานจัด จุดความแตกต่างหานำมาอธิบายได้จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้งการหามองตลาดต่างประเทศใหม่ๆ อย่างอินเดีย เพิ่มขึ้นจากจีน ต้องทำควบคู่กับตลาดภายในประเทศ เช่น มาร์เก็ตเพลส (Market Place) กระจายไปภูมิภาคต่างๆ เพราะการเพิ่มตลาดภายในประเทศจะช่วยลดต้นทุนด้านขนส่ง และแก้ปัญหาการนำผลไม้ไทยถูกนำไปแปลงสัญชาติหรือการกีดกันทางการค้าในอนาคตได้” ดร.วศิน กล่าว

Advertisement
คุณลาวัลย์ พันธุ์นิล

เกษตร 4.0 เกษตรกรตัวจักรสำคัญ ภาครัฐช่วยอย่างไร

ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จันทบุรีอยู่ท่ามกลางเมืองสำคัญ 5 เมือง ตราด จันทบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็น อีอีซี จันทบุรีเป็นไข่แดงและเป็นเมืองผ่าน ต้องสร้างประโยชน์จากเมืองรอบๆ ที่ได้รับงบการพัฒนาภาครัฐ ด้านการเกษตรกรรมต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต มีการนำนวัตกรรมทางเครื่องมือมาผสมผสานกับเกษตรกรท้องถิ่น ช่วยลดต้นทุนการพัฒนาผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ถ้าจะเป็นเกษตร 4.0 ต้องทำทั้งระบบ เกษตรกรมีแนวคิด ทำคุณภาพ ใช้เทคโนโลยี ภาครัฐสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งระบบ เช่น ด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับผลไม้ทุกอำเภอในจังหวัดจันทบุรี

ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร

“สิ่งสำคัญต้องให้เกษตรกรเข้าใจ 4.0 ชัดเจนก่อน และภาครัฐต้องเข้าใจว่าบางอย่างใช้เทคโนโลยีไม่ได้ เช่น การเก็บมังคุดต้องเลือกเก็บทีละลูก ลำไยต้องเก็บแบ่งเป็น 4 เกรด จำเป็นต้องใช้แรงงานและพัฒนาฝีมือขึ้นมา โชคดีที่จันทบุรีอยู่ติดชายแดนมีโอกาสใช้แรงงานเพื่อนบ้านไป-กลับตามฤดูเก็บเกี่ยว เห็นด้วยที่ต้องทำคุณภาพ และทำแปรรูปส่งออกเพิ่มมูลค่า จันทบุรีโชคดีที่ตลาดจีนมาตั้งอยู่หน้าบ้าน ผลไม้ส่งออกจีนถึง 80% และมีระบบตรวจสอบกับลำไยแล้ว แต่สิ่งที่รัฐต้องเร่งแก้ไขมาตรการการส่งออกหากมีข้อจำกัดมากผลเสียจะเกิดขึ้นกับเกษตรกร เวียดนามจะถือโอกาสเป็นนายหน้าส่งผลไม้ไทยไปจีน และพึงระวังลงทุนของจีนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ 5-6 แห่ง ตามแนวชายแดนขณะนี้” ดร.รัฐวิทย์ กล่าว

ดร.สุทัศน์ รงรอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.ดูอินไทย ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ กล่าวว่า การเข้าสู่เกษตร 4.0 เป็นเรื่องของนวัตกรรม เริ่มจากตัวเกษตรกรสำคัญที่สุด 1. ต้องแสวงหากระบวนการผลิต มีการจดบันทึก ต้นทุนการซื้อ-ขาย 2. ต้องรู้เท่าทันอากาศในท้องถิ่น ปัญหาลานิญา เอลนิโญ ที่เกิดขึ้น เพื่อการตัดสินใจวางแผนการผลิตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 3. การตลาดมีระบบตรวจสอบด้วยคิวอาร์โค้ด ตรวจย้อนกลับทุกรายการ พื้นที่ปลูก กระบวนการปลูก แรงงานที่เก็บ ตลาดยุคใหม่นอกจากราคาแล้ว การกินต้องอร่อยและได้อารมณ์จากการกิน ทุกวันนี้คนกล้าจ่ายเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น และ 4. นวัตกรรมในตัวตน ของต้องนำออกมาใช้ มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อช่วยกันลดความเสี่ยง 5. ภาครัฐควรช่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกระจายไปทุกอำเภอของจันทบุรี ขายองค์ความรู้การผลิต การบริโภคที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ดร.สุทัศน์ รงรอง

“ทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้จักบริบทของตัวเอง ต้องกระจายความรู้ไปให้เกษตรกรกว้างๆ ภาครัฐ เอกชน ล้ง น่าจะมานั่งคุยกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้เกษตรกรบริหารจัดการ สร้างมูลค่าของผลไม้ ทำงานให้น้อยลงได้เงินมากขึ้น การสร้างเกษตร 4.0 นวัตกรรมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ดีอย่างไร ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกร (people  ware) เกษตรกรต้องเห็นคุณค่าตัวเอง ใช้นวัตกรรมที่มีอยู่จริงและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จับต้องได้ เชื่อว่าผลไม้จันทบุรีมีแนวทางพัฒนาได้อีกมากและหาตลาดใหม่ๆ ได้” ดร.สุทัศน์ กล่าว

 

เกษตร 4.0 ตลาดซุปเปอร์พรีเมี่ยมโต

ลูกละ 3,600 บาท ขายคุณภาพและความต่าง

คุณภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานกลุ่มทุเรียนเอ็กโซทีค (EXOTIQUE ) กล่าวว่า เกษตรกรรมทุกวันนี้หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาทำคุณภาพ เน้นกระบวนการผลิตที่แตกต่าง ใส่ใจในรายละเอียดทุกด้าน ยกตัวอย่างทุเรียนแบรนด์ Exotique เป็นทุเรียนซุปเปอร์พรีเมี่ยมจริงๆ มีตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ทำคุณภาพให้ทุเรียนลูกสวยและรสชาติอร่อย แบบเกษตรปลอดภัย ดูแลตั้งแต่การให้อาหาร การกำหนดลูกบนต้นไม่ให้มากเกินไปเพราะไม่ได้เน้นน้ำหนัก และตัดทุเรียนที่แก่จัดจริงๆ และใช้จุลินทรีย์ชุบกันเชื้อรา ยอมรับว่าต้นทุนในการผลิตสูงกว่าทุเรียนทั่วไปถึง 10 เท่า แต่ตลาดจีนมีกำลังซื้อสูงเช่นกัน ขายลูกละ 3,600 บาท ลูกไหนไม่สวยทรงเล็กขายร้านอาหาร High end ขายลูกละ 1,800 บาท ซื้อไปทำน้ำกะทิ ทำขนม หรือถ้าเป็นทุเรียนหล่นเอาเนื้อไปยีขายกิโลกรัมละ 400 บาท

คุณภานุศักดิ์ สายพานิช

“เริ่มทำมา 3 ปีแล้ว ได้รับคำแนะนำให้ทำทุเรียนคุณภาพสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด เพราะจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกทุเรียนมานาน จึงรวมกลุ่มเพื่อนๆ 6 คน เริ่มทำอย่างจริงจังมีการค้นคว้าวิจัยและทำแปลงทดลอง และนำไปออกงาน Thaifex ขายลูกละ 1,800 บาท ขายเป็นลูกๆ ไม่มีกล่องใส่ขายดีมาก ทำให้คิดว่าลูกค้าสนใจอยากได้ของถูกใจมีคุณภาพมากกว่าราคา กลับมาจ้างมืออาชีพออกแบบแบรนด์ แพ็กเกจจิ้ง และพัฒนาการผลิตมีการแบ่งเกรดเพิ่มขึ้น ส่งขายที่ห้างเดอะมอลล์ พารากอน เอ็มควอเทียร์ ลูกค้ายอมซื้อลูกละ 3,000-3,600 บาท ตลาดทุเรียนซุปเปอร์พรีเมี่ยมยังโตได้อีก ปัจจุบันกลุ่มเรามีทุเรียน 10,000 ต้น แต่เลือกมาทำทุเรียนซุปปอร์พรีเมี่ยมได้ไม่เกิน 50 ต้น” คุณภานุศักดิ์ กล่าว

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกวันนี้เรื่องเกษตรกร 4.0 เกษตรกรจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง ขณะที่ภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการทำงานเป็นด้านๆ เป็นจุดๆ ต่างจากเกษตรกรที่มองได้รอบด้าน เกษตรกรยุคอดีตกับปัจจุบันต้องรวมตัวกันให้ได้ 0 นำภูมิปัญญา ภาควิชาการมาผสมผสานกัน ใช้เวลาและโอกาสเพื่อพัฒนาไปสู่เกษตร 4.0 ถือหลักการ 3 จ. ง่ายๆ คือ “คนจันทน์ต้องจริงใจ”