คุณธรรมของอเมริกันชนยุคบุกเบิก สะท้อนผ่านวรรณกรรมชุดบ้านเล็ก

เวลาที่เราเห็นบุคคล หรือสังคม รวมถึงประเทศชาติใดๆ ในโลกนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่จนมีภาพออกมาให้เห็นว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายไม่ลำบากยากแค้น หรือบางทีก็ใช้ชีวิตอย่างหรูหราได้ตามชอบใจ เราควรจะศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าให้ลึกลงไปว่า กว่าจะถึงวันที่สะดวกสบายได้ผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำเผชิญปัญหาต่างๆ และหาทางออกของปัญหาได้อย่างไร จึงจะได้รู้จักชีวิต สังคม และประเทศชาติอย่างเป็นกระบวนการมีเหตุผล และเหตุปัจจัยพร้อมทั้งเงื่อนไขต่างๆ มากกว่าโชคช่วยหรือเทพองค์ใดบันดาล

เพื่อให้เกิดความกระชับและตรงประเด็นยิ่ง ขอนำเอาคุณธรรมมาวางให้เห็นกันชัดๆ ส่วนใครอ่านคุณธรรมเหล่านี้แล้วมีแรงจูงใจปรารถนาจะไปศึกษาและต่อยอดอ่านในรายละเอียดอีกจะยิ่งเป็นการดี ที่ได้กระตุ้นให้ลุกขึ้นคว้าหนังสืออ่านเป็นชุดๆ ไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุโข ปัญญาปฏิลาโภ การได้เฉพาะซึ่งปัญญา เป็นความสุข” นี่แปลตามตัวบาลี แต่ถ้าจะปรับให้เข้าใจแบบไทยแท้ๆ ไม่ต้องแปลอีก คงจะแปลว่า “การได้ปัญญานำมาซึ่งความสุข”

คำตรัสของพระพุทธเจ้าประจักษ์แท้ ว่า ขณะที่อ่านหนังสือด้วยจิตใจเป็นสมาธิจดจ่อไม่ไปไหน ก็มีความสุข ครั้งหนึ่งก่อน ครั้นได้ความรู้สู่ปัญญานำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ก็เป็นความสุขอีกครั้งหนึ่ง การหาความสุขจากปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้น เป็นความสุขสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีผลข้างเคียง เป็นความทุกข์ย้อนกลับมาในภายหลัง ส่วนสุขจากการดื่มสุรา สุขจากการสูบบุหรี่ เมื่อทำบ่อยๆ เสพบ่อยๆ จะค่อยๆ มีผลข้างเคียงตามมา อย่างน้อย 2 ประการ คือ เสียทรัพย์ และเสียสุขภาพ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค แต่การหาความสุขทางปัญญายิ่งมีมาก ยิ่งเพิ่มคุณภาพชีวิต จิตใจสงบ สะอาด สว่างเรื่อยๆ ยิ่งอ่านมากฟังมาก พระพุทธเจ้าขนานนามว่า “พหูสูต แปลว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมาก หรือทรงภูมิรู้”

คุณธรรมเด่นที่พบจากวรรณกรรมชุดบ้านเล็ก คือ

  1. ความสันโดษ ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ พึงพอใจในสิ่งที่ตนสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยความสามารถของตน ไม่ปรารถนาสิ่งใดที่มากมายหรูหราเกินตัว ทุกครั้งที่เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใหม่ พ่อบ้าน (ชาร์ลส์) จะต้องลงมือสร้างบ้าน คุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มลมหนาว คุ้มหิมะได้
  2. พ่อบ้านนักบุกเบิกต้องมีความรอบรู้ มีฝีมือในการสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ดูต้นไม้ใบไม้แล้วพิจารณาว่าจะใช้ไม้อะไร จะใช้ส่วนไหนของต้นไม้มาประกอบส่วนไหนของบ้าน ต้องจินตนาการแบบบ้านไว้ในสมองอย่างเรียบร้อย ต้องมีสุขภาพดี เข้มแข็ง เพราะต้องตัดไม้ โค่นไม้ แต่งไม้ให้ได้รูปต่างๆ พร้อมที่จะใส่ส่วนต่างๆของบ้านได้อย่างลงตัว ต้องแบกหรือลากไม้ได้โดยอาศัยแรงแม่บ้านหรือลูกๆ น้อยที่สุด
  3. คุณธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องทั้งหมดคือ ความอดทน พ่อบ้าน (ชาร์ลส์) แม่บ้าน (แคโรไลน์) ลูกๆ (ลอร่า และแมรี่) มีความอดทนอย่างถึงที่สุดในการเผชิญ ดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงทั้งลมหนาว แดดจ้า หิมะตกจัด ฝนตกหนัก เข้าหลักขันติธรรมที่ว่า ทนลำบาก ทนตรากตรำ และทนเจ็บใจ ไม่เคยโทษดินฟ้า ไม่โทษโชคชะตา แต่ใช้ความอดทนเดินหน้าฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางหน้า แก้ปัญหาทุกอย่างไปไม่ท้อถอย
  4. สติสัมปชัญญะ คือหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวและตัดสินใจในการแก้ปัญหา เมื่อต้องเผชิญหน้าปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ จะทำอย่างไรจึงผ่านพ้นไปได้ เช่น ครอบครัวอิงกัลล์ เป็นคนต่างถิ่นเข้าไปทำไร่ในถิ่นอินเดียน บางครั้งพ่อบ้านเดินทางเข้าเมืองหรือเข้าป่าหาของกิน เมื่อชาวอินเดียนท้องถิ่นเดินเข้ามาในครัวชี้ไปที่สิ่งนี้สิ่งนั้น โดยพูดภาษากันไม่รู้เรื่อง แม่บ้านและลูกเล็กๆ จะตัดสินใจอย่างไร ให้ทั้งแม่ทั้งลูกปลอดภัย แม้จะสะทกสะท้านหวั่นไหวผวา แต่แม่บ้านและเด็กๆ ก็ใช้สติแก้ปัญหาผ่านไปด้วยการเลี้ยงอาหารและแสดงทีท่าที่มีไมตรีต่อกัน จนแขกแปลกหน้าที่น่าสะพรึงกลัวกลับไปด้วยความอิ่มหนำเสมอ

เรื่องนี้นอกจากสะท้อนคุณธรรมคือ การใช้สติปัญญาเป็นเลิศแล้ว ยังสะท้อนความจริงอย่างหนึ่งว่า การให้ คือ สายใยแห่งมิตรภาพที่เป็นสากลแม้ไม่เข้าใจภาษา แต่ถ้าได้หยิบยื่นสิ่งของให้ก็เป็นอันว่า สายใยแห่งมิตรภาพบังเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า “ทะทัง มิตตานิ คันถะติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ ทะทะมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” ทุกครั้งที่แม่บ้านต้องเผชิญหน้ากับชาวอินเดียนท้องถิ่น เธอใช้สติสัมปชัญญะได้อย่างดี และใช้ทาน ผูกไมตรีไว้ได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ ทุกคราไป

  1. ใฝ่รู้สู้สิ่งยาก ครอบครัวอิงกัลล์ เป็นตัวอย่างแห่งความใฝ่รู้อย่างดี ทั้งในเรื่องตำราและประสบการณ์ตรง ความรู้จากตำรานั้น ครอบครัวนี้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไหนไม่เคยทิ้งตำรา ต้องมีหนังสือพกติดตัวไปตลอดเวลา เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานในไร่ หรืองานแม่บ้านที่หนักหน่วง จะคว้าหนังสือขึ้นมาอ่านทันที ไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นห่างไกลแห้งแล้งกันดารเพียงใด จะไม่ทิ้งการเรียนรู้ พ่อบ้านเวลาเดินทางเข้าเมือง ต้องนำหนังสือติดตัวกลับบ้านมาเสมอ จะเป็นหนังสือพิมพ์หรือหนังสือใดๆ ที่หาได้ต้องนำมาแล้วอ่าน นำเรื่องที่อ่านมาสนทนากัน ส่วนการใฝ่รู้จากประสบการณ์ตรงที่สะท้อนออกมาชัดเจนคือ การเดินทางไกล ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การแสวงหาดินแดนใหม่ทางทิศตะวันตก คือการใฝ่รู้ด้วยการตั้งคำถามว่า จะได้พบทุ่งกว้างดินดีไถง่ายปลูกพืชงอกงามดี ที่ไหนเดินทางค้นหาเรื่อยไป ทุกท้องถิ่นที่ผ่านเข้าไปและกลับออกมาล้วนมีบทเรียนหลากหลายรสชาติที่สมาชิกทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

ลอร่าลูกสาวคนที่สองของครอบครัวอิงกัลล์ ลูกพ่อชาร์ลส์และแม่แคโรไลน์ ได้ประสบมาและบันทึกถ่ายทอดแบ่งปันมายังคนรุ่นหลัง แม้เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี บันทึกแห่งการเรียนรู้ชิ้นนี้ยังคงเล่าขานเรียนรู้สืบทอดต่อกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนเรื่องสู้สิ่งยากนั้น ใครได้อ่านหนังสือชุดนี้ พบว่า ทุกก้าวย่างล้วนยากเย็นแสนเข็ญ เส้นทางของนักบุกเบิกมิได้ปูพรมแดงและโรยด้วยดอกกุหลาบ แต่ต้องบุกป่าฝ่าทุ่งหญ้าข้ามแม่น้ำยามที่น้ำในแม่น้ำหรือทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง ข้ามแม่น้ำเชี่ยวกรากด้วยความเสี่ยง ต่อสู้กับไข้ป่า พายุหิมะ ความแห้งแล้ง ความหนาวเหน็บ ศัตรูพืช ตั๊กแตนแสนร้าย ลงไร่ไหนก็พินาศในพริบตา แต่นักบุกเบิกพกคำว่า สู้ มาเต็มหัวใจ ไม่มีคำว่า ถอย ตกหล่นอยู่ในหัวใจของนักบุกเบิกเลยแม้แต่คำเดียว

  1. มีดนตรีและศาสนธรรมในใจ ทุกคืนก่อนนอน ในคืนที่ชาร์ลส์ พ่อบ้านไม่เมื่อยล้าจนเกินไป จะสีไวโอลินให้ลูกๆ และภรรยาฟังอย่างไพเราะอ่อนหวาน ปิดท้ายด้วยการอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลที่พกไปทุกหนทุกแห่ง ครอบครัวนี้แม้อยู่ไกลแสนไกล แต่ไม่เคยละทิ้งศาสนธรรมเมื่อมีโอกาสเข้ามาอยู่ใกล้เมืองก็เข้าโบสถ์เป็นประจำและช่วยเหลือกิจการอย่างแข็งขันด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ดั่งคราวหนึ่งรองเท้าของชาร์ลส์พ่อบ้านอิงกัลล์ขาดและเย็บปะจนเต็มทนแล้วเตรียมเงิน 3 ดอลลาร์ เพื่อซื้อรองเท้าคู่ใหม่ พอดีเจอท่านสาธุคุณกำลังรวบรวมเงินจากสมาชิกเพื่อซื้อระฆังแขวนที่โบสถ์ เขาคิดว่าท่านสาธุคุณคงหาเงินตามจำนวนที่ต้องการนั้นยากจึงบริจาคให้ไป แล้วสวมรองเท้าคู่เก่าเดินกลับมาบ้าน

เขาบอกภรรยาและลูกของเขาว่า เงินซื้อรองเท้าหาเอาใหม่ได้ นี่แสดงถึงการอุทิศตนต่อส่วนรวมและศาสนา อันเป็นการพัฒนาจิตใจของคนในชุมชนให้สงบเยือกเย็น อบอุ่น ปลอดภัย ด้วยศาสนธรรมอันควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า เรือกสวนไร่นาที่กำลังลงมือทำกันอยู่อย่างจริงจัง ความเจริญทางด้านวัตถุในดินแดนนี้ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งศาสนธรรมมาช้านานเช่นกัน

Advertisement
  1. ส่งเสริมการศึกษา นักบุกเบิกไปถึงไหน โรงเรียนและโบสถ์ต้องไปถึงนั่น เด็กที่ติดตามพ่อแม่ไม่ว่าไปอยู่ตรงไหน ถ้ามีโรงเรียนต้องไปเรียนทันที เด็กๆ จะได้เรียนหนังสือ เรียนคณิตศาสตร์ สะกดคำ อ่านได้และอื่นๆ ตามที่ชุมชนร่วมกันกำหนดทิศทางให้ลูกหลานของตนเอง พ่อแม่ทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะช่วยสถานศึกษานั้นทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ดินแดนอเมริกาจึงอาศัยการศึกษาที่กระจายอยู่ทุกถิ่นเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ
  2. รักการผลิต แม้นักบุกเบิกจะอยู่ในสังคมเกษตร ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่ทุกก้าวย่างที่เดินทางไปตั้งรกรากต้องมีความคิดในด้านผลิต และการแปรรูปควบคู่กันไป เช่น ถ้าต้องการดื่มนมก็ต้องเลี้ยงวัวเอง ครอบครัวหนึ่งมีวัวเพียงตัวเดียวก็สามารถมีนมดื่มได้อย่างทั่วถึง ส่วนที่เหลือจากดื่มก็ทำชีสและเนยเก็บไว้รับประทานต่อไป พืชพันธุ์แทบทุกชนิดถ้าเหลือจากการรับประทานจากจำหน่ายต้องนำไปแปรรูป เพื่อให้อยู่ได้นาน ต่อมาก็เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
  3. ความรัก การอภัย ความเข้าใจและความเห็นคุณค่าแห่งสมาชิกในครอบครัว เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ที่อบอุ่นแข็งแรงและสู้งานได้อย่างดีจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ศาสนธรรมแห่งศาสนามีบทบาทต่อการกล่อมเกลาประชาชนอย่างลึกซึ้ง

คุณธรรมที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมและวัฒนธรรมอื่นๆ มากมาย ที่นักบุกเบิกทั้งหลายได้พกติดตัวไปในการแสวงหาดินแดนแห่งการตั้งรกรากใหม่ๆ สมบัติสำคัญของนักบุกเบิกนอกจากจะมีเกวียนที่แข็งแรงเทียมด้วยม้าและวัวที่แข็งแรง นักบุกเบิกต้องมีใจกล้า แข็งแกร่งที่สุดด้วย ใจกล้าแกร่ง เป็นสภาวธรรมอันเป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ล้วนมีได้ทุกคนจากการฝึกฝนผ่านอุปสรรคต่างๆ

ในโอกาสที่ได้มาเยือนและมีชีวิตร่วมกันในดินแดนนี้ ในวันที่ความสะดวกสบายทุกอย่างถึงพร้อม ขอคารวะดวงใจอันกล้าแกร่งของนักบุกเบิกสุภาพบุรุษสุภาพสตรีทั้งหลาย ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ รักษาและส่งต่อประเทศนี้ให้ได้เป็นแหล่งพำนักพักพิงที่สะดวกสบาย แก่คนรุ่นหลังที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศเพื่อบุกเบิกแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทำมาในอดีตรุ่นแล้วรุ่นเล่านั้นเถิด

Advertisement

 

ขอบคุณภาพจากสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน