“นกกรงหัวจุก” ราคาร่วงหนักผู้เลี้ยงวอนปลดบัญชีสัตว์ป่า

“นกกรงหัวจุก” ซบเซา ราคาร่วงต่อเนื่องจากยุคเฟื่องฟูตัวละ 5,000 บาท เหลือ 1,000 บาท เผยมีผู้เลี้ยง/ครอบครองทั่วประเทศกว่า 2 ล้านตัว ยุคเศรษฐกิจดีเคยสร้างรายได้ทั้งระบบปีละพันล้านบาท ชงรัฐช่วยปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เลี้ยงโดยผิดกฎหมาย เมื่อปี 2546 ได้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ครอบครองและผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก โดยให้มาแจ้งลงทะเบียนไว้กับทางราชการ แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งทั้งหมด ส่วนผู้ที่แจ้งลงทะเบียนไว้แล้วให้นำหางบัตรมารับห่วงไปสวมให้นกกรงหัวจุกก็จะไม่มีการจับกุม

สำหรับกรณีที่กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกจังหวัดสงขลาได้มายื่นหนังสือถึงสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 เพื่อขอให้มีการชะลอการจับกุม รวมทั้งให้ถอนนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ถือว่าเรื่องนี้เกินอำนาจหน้าที่ของสำนัก เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ จึงได้ยื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แม่ทัพภาค 4 และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปแล้ว ซึ่งอำนาจการพิจารณาขึ้นอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และรัฐบาล

ด้านนายสุรเทพ บุญญวัฒน์วณิชย์  นายกสมาพันธ์ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ และเป็นประเพณีมาเป็นร้อยปี โดยเมื่อปี 2546 แจ้งลงทะเบียนไว้ประมาณ 4 แสนตัว จนถึงขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตัว จำนวนผู้เลี้ยงหรือครอบครองกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะมีผู้เลี้ยงในระดับฟาร์มประมาณ 1,800-1,900 ฟาร์ม ซึ่งฟาร์มของตนมีจำนวน 12 กรง เพาะเลี้ยงนกได้ประมาณ 120 ตัว/ปี ราคาจำหน่ายตั้งแต่ 1,500-2,500 บาท/ตัว หากเป็นนกกรงหัวจุกที่แข่งขันได้ ราคาจะสูงถึง 25,000-50,000 บาท/ตัว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา การเลี้ยงนกกรงหัวจุกได้ทำให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ตามมา ได้แก่ การผลิตอาหารนก ทั้งกล้วย หนอน ตั๊กแตน รวมไปถึงอาชีพทำกรงนก ไม้ไผ่ ทำตะขอ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจดีจะมีเงินสะพัดวันละประมาณ 5 ล้านบาท หรือปีละกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือราววันละ 3 ล้านบาท ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐปลดล็อกกฎหมายออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง และหันมาส่งเสริมสนับสนุนอาชีพนี้อย่างจริงจัง

นายประจักษ์ ชูแก้ว ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นกกรงหัวจุกเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของประชาชนในภาคใต้ เนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงมานานและแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อการแข่งขันเป็นหลัก รวมทั้งยังมีผลดีต่อเศรษฐกิจด้วย กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกทั่วประเทศจึงขอให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อน และถอนนกกรงหัวจุกออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง

ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ การซื้อขายนกกรงหัวจุกซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ โดยราคาตกต่ำลงมาก จากตัวละประมาณ 5,000 บาท เหลือเพียง 1,000 บาทเท่านั้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 – วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2560