เกษตรเขต 2 เตือนชาวนาระวังโรคไหม้ในนาข้าว ช่วงสภาพอากาศแปรปรวน

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศช่วงนี้ที่กลางวันร้อนอบอ้าวอุณภูมิสูง กลางคืนอากาศเย็น หรือมีน้ำค้างปริมาณมาก สภาพอากาศแบบนี้เหมาะที่จะทำให้เกิดโรคไหม้ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นข้าวมีอาการดังต่อไปนี้ คือ ระยะกล้า ใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลาง แผลขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าเป็นระยะรุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ส่วนระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ ข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้าและระยะออกรวง ถ้าเป็นโรคช่วงรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่ส่วนคอรวง ทำให้เปราะ หักง่าย เมล็ดข้าวจะเสีย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

โรคไหม้เป็นโรคที่พบได้เป็นประจำในพื้นที่ที่มีการทำนามากกว่าปีละครั้ง โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการปลูกข้าวหนาแน่น อับลม อากาศไม่ถ่ายเท รวมทั้งมีการใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ประกอบกับมีสภาพอากาศแห้งแล้งตอนกลางวัน อากาศเย็นหรือชื้นจัดในเวลากลางคืน ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้โดยการปลูกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อโรค เช่น กข 7 กข 13 ชัยนาท สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 60-2 เป็นต้น และหว่านข้าวในอัตรา 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การป้องกันโรคไหม้ให้ได้ผลดี ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเริ่มตั้งแต่แช่หรือคลุกกับเมล็ดข้าว จนถึงระยะข้าวก่อนออกรวง ประมาณ 3-4 ครั้ง ก็สามารถป้องกันโรคได้เป็นที่น่าพอใจ หรือกรณีที่เพิ่งพบการระบาดระยะแรกๆ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมสารจับใบฉีกพ่นในช่วงเย็นหรือช่วงแสงแดดอ่อนๆ ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ทุก 5 วัน ก็สามารถลดการระบาดของโรคได้ แต่ถ้าพบการระบาดระยะรุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารเคมี ควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรส เช่น ไตรไซคลาโซล ไอโซไพรไทโอเลน คาชูกาไมซิน อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิน ผสมสารจับใบตามอัตราที่ระบุ แต่การใช้สารเคมีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี โทร. (035) 440-926-7 หรือติดต่อได้ที่หน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด