ปั้นยางให้เป็นงาน เพื่อชีวิตแห่งอนาคต

รับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทย เปิดบ้านต้อนรับนักออกแบบรุ่นใหม่ 20 ทีมจาก 277 ทีม 18 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการประกวด “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” (RUBBERLAND Design Con-test) เวทีค้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุโฟมยางพารา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต
“วันจักร โชติชัยชรินทร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านปฏิบัติการและการบริหารสินค้ารับเบอร์แลนด์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของรับเบอร์แลนด์ที่ต้องการมอบความรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม และคุณภาพมาตรฐานให้กับยางพาราผ่านงานดีไซน์
“เนื่องจากประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกยางพาราดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำยางพาราในอันดับต้นๆ ของเอเชีย และของโลก จนส่งผลให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น หากมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลดีต่อประเทศ และเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมหาศาล”
“ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ กล่าวว่า โครงการ RUBBERLAND Design Contest จัดขึ้นเพื่อค้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ และจุดประกายให้นักออกแบบหันกลับมามองยางพารา ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติในประเทศ ด้วยการนำมาออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตลาดยางพาราไทย และสินค้าไทย
“เราจึงเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานการออกแบบ หัวข้อ Future Living ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์สำหรับห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น โดยมีวัสดุโฟมยางพาราเป็นองค์ประกอบในการออกแบบสำคัญไม่น้อยกว่า 60% เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติ หากได้รับการส่งเสริมด้านนวัตกรรมจะทำให้ต่อยอดการพัฒนา และเพิ่มมูลค่าได้”
“ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ซึ่งโมเดลนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น รับเบอร์แลนด์ในฐานะภาคเอกชนเล็งเห็นถึงศักยภาพของการเติบโตในอุตสาหกรรมยางพารา จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอด และเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน”
สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกนักออกแบบรุ่นใหม่ในโครงการ RUBBERLAND Design Contest ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะพิจารณาจาก หนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ 30% สอง การคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสามารถผลิตได้จริง 30%
สาม การใช้วัสดุจากโฟมยางพารามากกว่า 60% ของชิ้นงาน 20% และสี่ ความสามารถต่อยอดทางการตลาดและสร้างแบรนด์ได้ 20%
โดยวันตัดสินจะคัดเลือกจาก 20 ทีมสุดท้ายให้เหลือเพียง 10 ทีม เพื่อนำเสนอผลงานพร้อมแบบโมเดลต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิและสื่อมวลชน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในโครงการ RUBBERLAND Design Contest จะได้รับเงินสด 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร พร้อมเซ็นสัญญารับส่วนแบ่งในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทางรับเบอร์แลนด์ เป็นระยะเวลา 1 ปี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับเงินสด 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร
โดยโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น และแรงบันดาลใจให้นักออกแบบริเริ่มนำเอาวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และเห็นคุณค่ามากขึ้น ด้วยการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ