หนุนเกษตรกรอีสานผลิต “แตนเบียน” กำจัด “หนอนหัวดำมะพร้าว”

นครราชสีมาว่าที่พันตรีณรงค์ชัย ค่ายใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) เผยว่า ศูนย์มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษาทดสอบ ประยุกต์และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช แบบผสมผสานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ขณะนี้ศูนย์สามารถผลิตขยายศัตรูธรรมชาติได้ทั้งตัวห้ำ เช่น มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ แมลงช้างปีกใส มีส่วนผสมสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช เช่น สะเดา ตะไคร้หอม หางไหล หนองตายหายาก ที่ผ่านมาประสบปัญหาด้านงบประมาณในการผลิตแตนเบียนที่มีน้อยและมีห้องผลิตที่จำกัด จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถผลิตแตนเบียนเอง เพื่อควบคุมศัตรูพืชในพื้นที่โดยไม่ต้องลงทุนสูง แทนการรอแตนเบียนที่ผลิตจากศูนย์ส่งเสริมฯ พยายามทดลองและหาวิธีการที่ง่ายให้เกษตรกรทำได้เองในพื้นที่ เกิดความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วย จึงนำเทคนิคที่ได้นี้ไปใช้จริงในพื้นที่ที่ประสบปัญหา
ปัจจุบัน หนอนหัวดำมะพร้าวระบาดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหลายจังหวัด หากไม่รีบดำเนินการป้องกันกำจัดต้นมะพร้าวจะเกิดความเสียหายกระจายวงกว้างออกไปมาก หากปลูกใหม่ต้องใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิต จึงจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเข้าไปในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ระบาด ร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม โดยการให้ความรู้เกษตรกรผลิตแตนเบียน ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 200 บาทในการซื้ออุปกรณ์ พ่อแม่พันธุ์แตนเบียนบราคอน อย่างไรก็ตามลำดับแรกที่ทำได้ทันทีคือดูแลรักษาความสะอาดแปลง สำรวจแปลงถ้าพบหนอนหัวดำมะพร้าวให้รีบตัดทางใบและเผาทำลาย เพื่อตัดแหล่งอาศัย จากนั้นให้ใช้ศัตรูธรรมชาติคือปล่อยแตนเบียน บราคอน เข้าไปควบคุมประชากรหนอนหัวดำไม่ให้แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด