สศก.ห่วงข้าวล้น 32 ล้านตัน เร่งหารือพาณิชย์ลงพื้นที่ หวั่นฉุดราคาสิ้นปี

แฟ้มภาพ

สศก.ห่วงข้าวล้น 32 ล้านตัน เร่งหารือพาณิชย์ลงพื้นที่ หวั่นฉุดราคาสิ้นปี ขณะที่ 9 เดือนดัชนีรายได้เกษตรกรพุ่ง 8.88% เฉพาะจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 4.5% คาดต่อเนื่องไตรมาส 4

สศก.เผยภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกร 3 ไตรมาส เพิ่มขึ้น 8.88% คาดทั้งปียังเพิ่มจากผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมาก แม้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ส่วนจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 4.5% หลังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ส่งผลไตรมาส 4 ขยายตาม แต่ห่วงข้าวล้นแผน ยางราคาตก เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสำรวจข้อมูลจริง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผย ว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกร สะท้อนจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในระยะ 3 ไตรมาส ปี 2560 (ม.ค.- ก.ย. 2560) อยู่ที่ระดับ 155.34 เพิ่มขึ้น 8.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.50% ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง 1.47% และหากพิจารณาแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2560 (ก.ค.-ก.ย. 2560) ขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศยังคงเพิ่มขึ้น แม้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ ขณะที่สินค้าพืชอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในไตรมาส 3 เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไย มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปหรืออียู และญี่ปุ่น

หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าสาขาพืชขยายตัว 7.4% โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และเงาะ โดย ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.3% สาขาประมง หดตัว 3.2% เป็นผลมาจากกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงผลผลิตมีแนวโน้มลดลง สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 5.0% จากสถานการณ์การผลิตทางการเกษตรเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มีฝนตกตามฤดูกาลเพียงพอต่อการเพาะปลูก สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0 – 4.0% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมิ.ย. 2560 ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ขยายตัวได้ในระดับสูงอยู่ที่ 10.3% โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี

ทั้งนี้ คาดว่าทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับมีแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกในปี 2560 ที่มีทิศทางดีขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ภาคเกษตรในปีนี้เติบโตได้ดี

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากสินค้าที่สำคัญคือข้าวนาปีและยางพาราออกสู่ตลาดมาก แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาอาจจะตกต่ำได้เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก แต่จากเทศกาลในช่วงสิ้นปีที่จะมีการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นจะทำให้ความต้องการของตลาดมากขึ้นตาม

“ในส่วนของข้าวคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 32 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดไปแล้ว 7.2 ล้านตันข้าวเปลือกและข้าวนาปีที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้รวม ประมาณ 25 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในแผนข้าวครบวงจร 29 ล้านตัน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อลงสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินผล ในขณะที่การทำนาปรังที่จะเริ่มใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2560 – 31 เม.ย 2561 นั้นต้องเข้มงวดมากขึ้นทั้งพื้นที่ปลูกและผลผลิตต่อไร่ เพื่อไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินไปและกระทบกับราคาที่ควรได้รับ แต่ในเบื้องต้นยังมีความกังวลกรณีเกษตรกรอาจไม่เห็นด้วย เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำมีความเหมาะสม”

ส่วนยางพารา คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 4.3 ล้านตัน และส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงสิ้นปี อย่างไรตาม ขณะนี้ฝนได้เปลี่ยนทิศทางตกในภาคใต้มากขึ้นจะส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดจะน้อยลง ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตคือ 60 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาลดลง เหลือ 45 บาทต่อกิโลกรัม

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์