ใช้ ‘กล่องหินเกเบี้ยน’ ปิดช่องขาดคลองส่งน้ำ 3L-RMC สำเร็จ เหลือเพียงเสริมให้แข็งแรงทั้งสองด้าน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่บริเวณคลองส่งน้ำ 3L-RMC หลักกิโลเมตรที่ 10 บ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทาน ที่ 6 เฝ้ากำกับการทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทาน ที่ 6 ตลอดทั้งคืนที่ผ่านเพื่อให้การดำเนินงานปิดกั้นคลองชลประทานที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาด เป็นไปตามแผนที่วางไว้และถูกต้องแข็งแรงที่สุด โดยใช้เวลาทำงาน 3 วัน 2 คืน

นายภัทรพลเปิดเผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เราได้เร่งปิดกั้นคลองชลประทานที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาด ซึ่งเราได้เร่งดำเนินการปิดช่องที่ขาดมาโดยตลอดไม่มีหยุด ทั้ง 3 วัน 2 คืน จนสามารถปิดช่องที่ขาดได้เมื่อตอนตี 4 ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินงานเราได้ใช้นวัตกรรมล่าสุด คือ “กงเกี่ยว” คือเป็นเสาขนาดยาว มีเหล็กฝังโดยรอบ ทิ้งลงในช่องขาดด้านล่างปักลงดิน ด้านบนยึดเกี่ยวกับกล่องเกเบี้ยน เพื่อใช้ยึดเหนี่ยววัสดุที่ถมทับลงมาจากด้านบนอีกด้วย เพื่อให้มีความยึดเหนี่ยวที่ดีขึ้น สำหรับกล่องเกเบี้ยนมีขนาด กว้าง x ยาว x สูง = 1.00 x 2.00 x 0.50 เมตร ใช้จำนวนประมาณ 3,000-3,500 กล่อง และใช้ชีทไพน์ ความยาว 6.00 เมตร ประมาณ 200 แผ่น ซึ่งความลึกของช่องคลองที่ขาด ลึกประมาณ 4 เมตร กว้าง 40 เมตร ตอนนี้เราสาสามารถปิดช่องขาดได้แล้ว ขั้นต่อไปต้องเสริมความแข็งแรงทั้งสองด้าน โดยเฉพาะด้านท้ายซึ่งมีความลึกจากการถูกน้ำกัดเซาะ

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตรงจุดที่ขาดเราทำกล่องหินเกเบี้ยนสามารถปิดชนกันเรียบร้อยแล้วเมื่อตอนตี 4 และในส่วนทีกำลังทำอยู่นี้เป็นการเสริมตัวคันนี้เพื่อให้เป็นเส้นทางสัญจรได้ด้วย และมีความแข็งแรง ซึ่งน้ำที่ไหลเข้าตรงจุดขาดเราประเมินกันว่าแต่ละวันที่ผ่านมา ในวันที่ 28 – 29 ต.ค. มีน้ำไหลเข้าประมาณวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คือ 7 แสน ลบ.ม. ซึ่งเราได้เร่งทำงานให้เร็วภายในกรอบเวลา และต่อจากนี้ไปตลอดทั้งสาย ระยะทาง 8 กิโล รัฐมนตรีได้สั่งว่า แนวนี้ ซึ่งจากเดิมนั้นเป็นเพียงคลองชลประทาน ไม่ใช่คันกั้นน้ำ ท่านได้สั่งการให้ทำเป็นคลองและคันกั้นน้ำไปในตัวเดียวกัน จะได้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และให้เราลงมือในปี 61 นี้ ทันที ทางกรมชลประทานก็จะเร่งดำเนินการตามที่รัฐมนตรีได้สั่งการ และในส่วนน้ำที่ยังมีขังอยู่ในพื้นที่การเกษตรอยู่ตอนนี้ เราจะเร่งสูบน้ำออกภายใน 2 สัปดาห์ จะเหลือน้ำไว้เพียงเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์