บทเรียน “แม่เมาะ”

เอ่ยชื่อ “เหมืองถ่านหิน” จะพบความหลากหลายจากคนหลายกลุ่ม ทั้งชอบ ไม่ชอบ สนับสนุน ต่อต้านโดยเฉพาะเหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อายุร่วม 100 ปี เพราะมีสำรวจตั้งแต่ปี 2460 กระทั่งปี 2496 พบแหล่งถ่านหินลิกไนต์จำนวนมากถึง 120 ล้านตัน

จากนั้นจึงมีการเปิดเหมืองลิกไนต์มาใช้ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากปี 2515 มีกำลังผลิตเครื่องละ 75 เมกะวัตต์

มาถึงปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 2,180 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเดินหน้าส่วนขยายทดแทนหน่วยที่ 4-7 ส่งไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไร้ปัญหาไฟตกไฟดับ

ระหว่างที่นำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่ก็มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงอย่างเต็มที่ อาทิ ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นที่โรงไฟฟ้า เพื่อกรองฝุ่นจากการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์ ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สามารถกำจัดได้ถึง 95% พร้อมติดตั้งจุดตรวจวัดค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามหมู่บ้านต่างๆ 12 จุด รายงานผลสู่ห้องควบคุมในโรงไฟฟ้า และรายงานออนไลน์ไปยังโรงพยาบาลแม่เมาะและกรมควบคุมมลพิษ

มีข้อมูลน่าสนใจว่า จากบทเรียนและการเรียนรู้ไปสู่การพัฒนา ทำให้โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัล Green Mining Awards 2016 ประเภทรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รางวัล EIA Monitoring Awards 2016 สำหรับโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รางวัล Thailand Coal Awards 2017 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ชนะเลิศด้านการดำเนินงานถ่านหินที่เป็นเลิศ ชนะเลิศจากผลงานเครื่องเคลียร์ถ่านติดสะสม และด้านการมีส่วนร่วมต่อชุมชนและสังคม รางวัล ASEAN Energy Awards 2017 ชนะเลิศประเภทการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการทำเหมืองเปิด และรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จากผลงานการร่วมมือกับชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รางวัลต่างๆ เหล่านี้น่าจะพอทำให้มั่นใจได้ว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ก็ยังมีบางฝ่ายตั้งการ์ดต่อต้านอยู่!!

แต่หากไม่นำถ่านหินลิกไนต์จากแม่เมาะมาพัฒนาใช้อาจเป็นการสูญเสียโอกาสในยามที่ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นแล้วต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงทำให้ต้นทุนผลิตสูงขึ้น และจะกลายเป็นภาระตรงต่อผู้ใช้ไฟฟ้าแน่นอน

ถึงตอนนี้คงต้องชั่งใจว่าสิ่งไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุด

ขอบคุณข้อมูลจาก ปิยะวรรณ ผลเจริญ